xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับมือภัยแล้งเมืองกรุง กทม.วอนเกษตรกร ลดปลูกข้าวนาปรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากกรีนพีซ
กทม.ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมแจงแผนปฏิบัติการดูแลพื้นที่เกษตรและน้ำประปาเข้าไม่ถึง มอบสำนักงานเขตสำรวจแหล่งน้ำสำรอง กำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ รถน้ำพร้อมใช้งานประจำพื้นที่ พร้อมวอนให้เกษตรกรรมลดการปลูกข้าวนาปรังและปลูกพืชน้ำน้อยทดแทน

วานนี้ (22 ก.พ.) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นาย ยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาธารณภัย (สปภ.) กทม. แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกทม.ประจำปี 2553 ว่า กทม.ได้จัดทำแผนในการปฏิบัติภารกิจเพื่อลดพื้นที่เกิดภัยแล้ง และลดระดับความรุนแรงของความแห้งแล้ง พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสำรองน้ำ รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง พื้นที่เขตชั้นนอกของกทม.โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำประปายังเข้าไปไม่ทั่วถึง จำนวนทั้งสิ้น 11 เขต ประกอบด้วย มีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง หนองจอก บางขุนเทียน บางบอน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และทุ่งครุ มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การเกษตร การปศุสัตว์ อีกทั้งสภาพอากาศแห้งแล้งในช่วงดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กทม. ซึ่งตั้งอยู่ ณ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซ.พหลโยธิน 6 เขตพญาไท โทร. 0-2270-0889 ทำหน้าที่กำหนดมาตรการ ประมวลผล และรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ และประสานการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอก อาทิ ประสานการประปานครหลวงแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมทั้งจัดตั้งกองอำนวยการร่วมส่วนหน้า ณ พื้นที่เขตที่เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ รถดับเพลิงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขต พร้อมกันนี้ กทม.ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต ณ สำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและสนับสนุน พร้อมทั้งกำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ ตรวจสอบคูคลอง แหล่งน้ำ บ่อน้ำบาดาลให้อยู่ในสภาพใช้การได้ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการระงับอัคคีภัย เช่น ถังดับเพลิงในชุมชน รถน้ำ เครื่องสูบน้ำชนิดหาบหาม ตลอดจนการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดอัคคีภัยและเส้นทางเข้าออกชุมชน แหล่งน้ำและหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ประปาหัวแดง ให้พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย

นายยุทธศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรซึ่งกทม.มีพื้นที่เกษตรกรรม จำนวนทั้งสิ้น 174,867 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ทำนา 138,782 ไร่ พืชผัก 5,005 ไร่ สวนผลไม้ 22,268 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 5,745 ไร่ และไร่หญ้า 3,067 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังซึ่งแต่ละปีสามารถเพาะปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ทั้งนี้กรมชลประทานขอให้งดการทำนาปรังเพิ่ม และงดทำนาปรังครั้งที่ 2 ในช่วงที่ประสบภาวะภัยแล้ง เนื่องจาก กรมชลประทานได้กำหนดแผนในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับการปลูกข้าวนาปรัง 71,100 ไร่ แต่ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 101,880 ไร่ ประกอบกับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณลดลง ดังนั้น กรมชลประทานจะสนับสนุนน้ำเฉพาะการทำนาปรังครั้งที่ 1 โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทดแทน เช่น พืชตระกูลถั่ว ถั่วเขียว ถั่วลิสล ข้าวโพดหวาน ข้าวฟ่าง งา มันแกว แตงโม พริก หอม กระเทียม เป็นต้น ทั้งนี้หากประชาชนต้องการขอรับการสนับสนุนน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร การรักษาโรคที่มากับหน้าร้อน แจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือโทร.1555 กรณีพบเห็นเพลิงไหม้ โทร.199 ตลอด 24 ชั่วโมง

กำลังโหลดความคิดเห็น