xs
xsm
sm
md
lg

พิรุธ 9 อำเภอของพิจิตรซื้อยาฆ่าเพลี้ยกระโดดแพงเกินจริงกว่าเท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร –“เพลี้ยกระโดด โรคเขียวเตี้ย โรคใบหงิก” ระบาดซ้ำซากในนาข้าวพิจิตร แฉพิรุธงบจัดซื้อสารเคมีกำจัดโรคระบาดใน 9 อำเภอมีเงื่อนงำ เผยแม้สั่งซื้อยกล็อตกลับได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดกว่าเท่าตัว แถมอยู่นอกรายการแนะนำนักวิชาการเกษตร ชาวนาเชื่อทำให้แจกยาฆ่าแมลงได้ไม่ถั่วถึง-ไม่ตรงโรค ต้นเหตุเพลี้ยฯระบาดอีก

นายธวัช วัดแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พร้อมทั้งโรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย เริ่มมีการระบาดในนาปรังของชาวนาพิจิตร อีกครั้งโดยการระบาดได้แพร่ไปทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพบในพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานโรค ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 4 ดอนเจดีย์ ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 60 มาเลเซีย ราชินี พวงทอง โพธิ์เงิน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทางส่งเสริมการเกษตรฯ ไม่ได้แนะนำให้ปลูก

สาเหตุเกิดจากเพลี้ยกระโดด เป็นพาหะนำเชื้อไปแพร่ระบาด อีกทั้งชาวนาฝ่าฝืนคำเตือนให้งดทำนาปรัง จึงทำให้วงจรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่หมดสิ้น และมีการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง

ในส่วนของแนวทางการแก้ไข ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณแก้ไขแล้ว โดยให้ชาวนาพิจิตรที่ตรวจสอบพบว่าในแปลงนามีโรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย สมัครเข้าร่วมโครงการตามมาตรการแก้ไข เพื่อตัดวงจร โดย จะต้องงดทำนาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขยินยอมให้ทางราชการ ไปดำเนินการไถกลบนาข้าวที่เกิดโรคดังกล่าว แลกกับค่าตอบแทน ไร่ละ 2,280 บาท เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่ก็จะได้พันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไร่ละ 15 กก. โดยสามารถระบุพันธุ์ข้าวที่ต้องการได้

ชาวนาที่สนใจติดต่อยัง สำนักงานเกษตรอำเภอ ในพื้นที่ที่ภูมิลำเนาตั้งอยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ตั้งแต่วันที่ 2 --15 มี.ค. 53 ทั้งนี้ต้องมีข้าวยืนต้นให้เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบยืนยัน ว่าเข้าคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่ จึงจะได้รับสิทธิ ซึ่งคาดว่าพิจิตร จะมีนาข้าวที่เกิดโรคเข้าโครงการประมาณ 13,000 ไร่เศษ

ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่พิจิตร กลับเริ่มปรากฏเงื่อนงำทุจริตขึ้นแล้ว โดย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 13 มกราคม 53 นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศพิจิตรเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และได้อนุมัติเงินทดรองราชการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันปราบปรามเพลี้ยกระโดด เป็นเงินเกือบ 10 ล้านบาท ให้กับ อ.วชิรบารมี 9.9 แสนบาท อ.สากเหล็ก 9.8 แสนบาท อ.วังทรายพูน 2.1 ล้านบาท อ.บางมูลนาก 3.04 ล้านบาท อ.โพทะเล 2.66 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 9.81 ล้านบาท

ในคราวนั้นนักวิชาการจากสำนักงานเกษตร จ.พิจิตร ได้เสนอให้ซื้อสารเคมี 1 ใน 9 รายการ คือ คาร์แทปไอโซโพรคาร์บ , ฟิโปรนิล , อีโทเฟนพรอกซ์, บรูโพรเซฟิน , อิมิดาโดลพริด , บรูโพรเซฟิน/ไอโซโพรคาร์บ ,คาร์โบซัลแฟน ,ไอโซโบรคาร์บ , คาร์บาริล

แต่ปรากฏว่าฝ่ายปกครองกลับไม่เห็นด้วย โดยสั่งซื้อสารเคมีที่ชื่อสามัญว่า ฟิโนบูลคาร์บ หรือ ชื่อทางการค้าว่า ไอ – ขาบ ในราคาขวดบรรจุ 1 ลิตร ราคาขวดละ 380 บาท จำนวน 25,833 ขวด คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 9,816,540 บาท เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวนา ซึ่งปรากฏว่า แจกได้ไม่ทั่วถึง

ทำให้ชาวนาไปหาซื้อสารเคมีดังกล่าว ตามท้องตลาดด้วยตัว กลับได้รับการยืนยันจากร้านค้าหลายแห่งว่า มีราคาถูกกว่าที่ฝ่ายปกครองของพิจิตรจัดซื้อกว่าเท่าตัว

เจ้าของร้าน สิทธิชัยการเกษตร ตลาดสดเทศบาล 1 และ ร้านกล้าเกษตร ถนนสระหลวง ยืนยันราคาว่า ถ้าซื้อย่อยขายปลีกอยู่ที่ขวดละ 180 บาท หรืออาจได้ถูกกว่านี้ ถ้าซื้อเป็นล็อตใหญ่อาจขายให้ได้ในราคา 150 -160 บาท

จึงทำให้ชาวนาพิจิตรต่างวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการแพร่ระบาด ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน จ.พิจิตร ที่ไม่ยอมหมดไปมิใช่เกิดจากชาวนา แต่แท้ที่จริงเกิดจาการทุจริต ของการจัดซื้อสารเคมีที่แจกชาวนามีราคาแพงเกินความเป็นจริงกว่า 1 เท่าตัว จึงทำให้แจกยาฆ่าเพลี้ยกระโดดไม่ทั่วถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น