xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้ง : จุดเริ่มต้นของสงครามแย่งชิงน้ำรายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงแม้เมืองไทยจะเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดินดีน้ำดี ปลูกอะไรตรงไหนก็ขึ้น แต่นั่นมันก็กลายเป็นภาพอดีตอันหอมหวานไปเสียแล้ว...

เพราะในทุกวันนี้ ปัญหาภัยแล้งได้กลายมาเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่เข้ามารุมเร้าเกษตรกรในบ้านเราเกือบทุกปี เดิมทีอาชีพการทำเกษตรกรรมก็มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวน้อยจนน่าตกใจอยู่แล้ว และถ้าปีไหนเกิดสภาวะภัยแล้งขึ้นด้วยก็ยิ่งแล้วใหญ่ จะเห็นได้ว่าในหน้าแล้งที่ผ่านๆ มาของทุกปี มักจะได้ยินข่าวการทะเลาะเบาะแว้งกันของชาวบ้านอันเนื่องมาจากการแย่งชิงน้ำในช่วงหน้าแล้งอยู่เสมอๆ

ปีนี้ก็เป็นไปดังคาด เพราะนาย นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ออกมาบอกว่าพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคเหนือตอนล่างกับภาคอีสานได้เข้าสู่สภาวะภัยแล้งแล้วกว่า 30 จังหวัด โดยขณะนี้น้ำในเขื่อนและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำได้ลดลงเร็วกว่าทุกปีถึง 15 วัน และจากช่วงนี้ไปถึงเดือนกรกฎาคม ก็จะขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด อีกทั้งยังมีการรณรงค์ให้ชาวนางดทำนาปรังรุ่นที่สอง เพราะคาดว่าน้ำจะไม่พอใช้แน่นอน

การงดทำนาปรังเพราะน้ำไม่พอใช้ ย่อมทำให้รายได้ของเกษตรกรที่น้อยอยู่แล้วน้อยลงไปอีก แน่นอนว่า คงมีเกษตรกรหลายรายที่จะไม่ยอมให้ความร่วมมือในการงดปลูกข้าวนาปรังรุ่นสองแน่ๆ และเมื่อถึงเวลานั้น สงครามแย่งชิงน้ำประจำปีก็จะกำเนิดขึ้นอีกครั้ง

นาแล้งน้ำ -คนแล้งน้ำใจ

ในหน้าแล้งที่ผ่านๆ มา ข่าวคราวของการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรคงจะผ่านตาหลายๆ ท่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยระดับความรุนแรงนั้นมีตั้งแต่เบาะๆ อย่างแค่การถกเถียงทะเลาะเบาะแว้ง หนักขึ้นมาหน่อยก็วางมวยกัน และมีบางครั้งที่การแย่งน้ำเพื่อทำการเกษตรกลายเป็นสงครามย่อมๆ

ทำไมถึงเรียกความขัดแย้งเรื่องนี้ว่าสงคราม ก็เพราะว่ามันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น

นายเชิด อิ่มพันธ์
เกษตรกรชาวอ่างทอง คือหนึ่งในตัวอย่างของผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากสาเหตุนี้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยนายเชิดนั้น ถูกคนร้ายซึ่งเป็นน้องเขยแท้ๆ ใช้จอบตีหัวจนเสียชีวิตเพราะเกิดการแย่งชิงน้ำกันเกิดขึ้น

หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาส่วนตัว หากแต่ความจริงแล้วปัญหาสงครามน้ำนั้น มันส่งผลตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยไปจนถึงระดับชุมชนเลยทีเดียวอย่างกรณีที่ชาวนากว่า 200 คนจาก ตำบลหนองโสน, เนินบ่อ, รังนก, และสามง่าม จังหวัดพิจิตร ประชุมกันในหน้าแล้งปีที่แล้ว เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาและแสดงความไม่พอใจที่ชาวนาบ้านหนองปืนแตก หนองแม่แตง หนองไข่เน่า ในจังหวัดกำแพงเพชร นำท่อนไม้มาปิดกั้นคลองชลประทานบึงบัว ทำต้นข้าวของชาวพิจิตรที่กำลังเติบโตเหี่ยวเฉาแห้งเพราะขาดน้ำ

โชคดีที่งานนั้นสามารถตกลงกันได้ สงครามระหว่างชุมชนจึงจบลงบนโต๊ะเจรจา

ถึงวันนี้ ก็ยังมีการทะเลาะกันเพราะการแย่งน้ำกระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำภาคเหนือตอนบน เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยเสียจนไม่เป็นข่าว ทว่าความร้าวฉานระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และข้อพิพาทระหว่างชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำก็ยังคงดำเนินต่อไป

คนใช้ไม่ได้จัดการ คนจัดการก็ไม่เข้าใจ

“สงครามแย่งชิงน้ำไม่เคยเกิดขึ้นกับระบบน้ำธรรมชาติ มันเกิดมาจากระบบน้ำชลประทานทั้งนั้น คือรัฐเข้าไปสร้างกลไก ทำให้การวางแผนการใช้น้ำของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าพื้นที่ที่ใช้น้ำระบบธรรมชาติ อย่างเช่นบนดอย ประวัติของการแย่งน้ำนั้นน้อยมากหรือไม่มีเลย”

หาญณรงค์ เยาวเรศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวถึงสมมติฐานต้นตอของการเกิดสงครามน้ำเขายังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนหนึ่งมันมาจากการที่ทางภาครัฐไปสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการใช้น้ำเอง มีการรับปากกับเกษตรกรว่าจะสามารถจัดหาน้ำมาได้เพียงพอต่อความต้องการ การรับปากเรื่องน้ำเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มักถูกใช้จูงใจเกษตรกร

ทว่าไม่เคยมีใครออกมาสอนให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเอง

“หากว่าไม่มีใครเข้าไปยุ่ง เข้าไปจัดการน้ำ เกษตรกรก็จะดูเรื่องระบบดินฟ้าอากาศเอง และสามารถจัดการเองได้ แต่ตอนนี้ ระบบการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ถูกทำลายจนเกือบจะหมดแล้ว ระบบน้ำไหลธรรมชาติแทบไม่มีแล้ว ไม่นา่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไปที่อาศัยน้ำไหลจากธรรมชาติ กล่าวคือมีเกษตรกรน้อยมากที่มีแหล่งต้นน้ำเป็นของตัวเอง”
และเมื่อเกษตรกรไม่สามารถควบคุมการมีหรือไม่มีของน้ำได้ ชะตากรรมในการทำการเกษตรแต่ละครั้งก็แขวนนอยู่กับการประกาศของกรมชลประทาน

“ในปัจจุบันนี้ พื้นที่เกษตรในประเทศไทยนั้น ต้องพึ่งพาน้ำจากการชลประทานถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะทำนาปีละสองครั้ง หรือสองปีห้าครั้งก็แล้วแต่ และถ้าทางภาครัฐคาดการณ์แล้วว่า น้ำจะมีไม่พอก็จะต้องมีการแจ้งประกาศเตือน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรจะไม่ฟัง เพราะเกษตรกรส่วนหนึ่งก็อาจจะลงกล้าไปแล้ว ซึ่งวิธีการแก้ก็คือการไปตายเอาดาบหน้า หรือก็ดิ้นรนหาน้ำโดยตัวเอง อาจจะสูบน้ำจากใต้ดิน หรือไปหาน้ำมาจากแหล่งอื่นก็ว่ากันไป ซึ่งมันอาจจะก่อให้เกิดสงครามการแย่งชิงน้ำขึ้น เช่นการเอากระสอบทรายไปกันไปเปลี่ยนทางน้ำให้เข้าพื้นที่การเกษตรของตัวเอง และไม่ใช่แค่ระดับรายย่อยนะ ที่ทำแบบนี้ บางครั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก็เป็นคนไปช่วยจัดหา ช่วยวางกระสอบทรายผันน้ำเข้าเขตการปกครองของตน กลายเป็นสงครามระหว่างตำบล หรือระหว่างจังหวัดเลยก็มี

“คือตั้งแต่เริ่มยุคสมัยของการสร้างเขื่อน เราก็เอาความหวังในเรื่องของน้ำไปฝากไว้กับเขื่อนหมด ไม่ฝากไว้กับป่าต้นน้ำหรือการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนกว่านี้ แต่ในเมื่อมันแก้ไม่ได้แล้ว ทางออกมันก็อยู่ตรงที่ว่าเราจะต้องมีการจัดการที่ดี”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะมองการจัดการน้ำของชลประทานในแง่ลบเสมอไป แน่นอนว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ได้ผลประโยชน์จากระบบชลประทานของรัฐ

บรรเทิง มีจั่น เกษตรกรชาวกาญจนบุรีคือหนึ่งในจำนวนนั้น ในปัจจุบันพื้นที่ของเขา มีน้ำในการทำเพาะปลูกอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เขาเล่าให้ฟังว่า พื้นที่ในการเพาะปลูกของเขาอยู่ในเขตพื้นที่ของกรมชลประทาน เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและมีการจัดสรรหมุนเวียนในการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ

“เรามีการทำฝายทดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและมีการระบายน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงโดยมีทั้งภาครัฐร่วมมือกับกรมชลประทานและชาวบ้านในการจัดสรรแบ่งปัน และเข้ามาดูแลน้ำ มีการใช้ระบบหมุนเวียน เช่น เมื่อส่งน้ำเข้าเต็มพื้นที่แล้วก็ควรมีการปิดปากน้ำเพื่อส่งให้ชาวบ้านคนอื่นๆได้ใช้ต่อไป ซึ่งตรงนี้ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันก็จะทำให้ปัญหาเรื่องน้ำลดน้อยลงได้”

นั่นอาจจะแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วในสงครามการแย่งชิงน้ำนั้น การเข้ามาจัดการน้ำของกรมชลประทานอาจจะไม่ใช่ต้นตอเสมอไป หากแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไปมากกว่า

เพราะโลกเปลี่ยนจึงต้องมีการจัดการ

“การที่ทางกรมชลประทานจะขอร้องไม่ให้ทางเกษตรกรในพื้นที่ทำนาปรังในรอบสองนั้น เพราะเราไม่อยากให้ใช้น้ำในส่วนนี้มากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำทั้งปีของกรมชลประทานที่เราให้ไว้นั้นมีประมาณ 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งมันน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบสองพันล้านลูกบาศก์เมตร เราทราบดีว่าตอนนี้ พืชผลทางการเกษตรขายได้ราคาดีแต่ว่าปริมาณน้ำทั้งหมดนั้น กรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับการใช้น้ำในหลายกิจกรรมทั้งการอุปโภคบริโภค, การใช้น้ำรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ ส่วนน้ำสำหรับพื้นที่ทางด้านการเกษตรนั้น เราจะให้ไว้ที่ 13,176 ล้านลูกบาศก์เมตร”

ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลที่มาจาก นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน ผู้ซึ่งเชื่อมั่นในระบบการจัดการน้ำของรัฐว่าบ้านเราจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำ เพราะว่าปัจจุบันมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และจำนวนน้ำที่มีอยู่ก็น้อยลงทุกที

“การบริหารจัดการน้ำของกรมชลฯเรานั้น ถ้าประชาชนใช้น้ำกันตามแผนที่เราวางไว้ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดในช่วงสิ้นกุมภาฯ ถึง 1 เมษาฯ มีการเริ่มทำนาปรังครั้งที่สองขึ้น ก็อาจจะมีผลกับน้ำอุปโภคบริโภค ที่จะเอาไปใช้เพื่อการประปาทั้งปี และปีนี้ก็จะมีปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งเป็นพิเศษด้วย”

สำหรับบทบาทผู้ร้ายในการจัดการน้ำที่หลายฝ่ายยัดเยียดให้แก่ชลประทานนั้น บุญสนองกล่าวว่า น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจมากกว่า เพราะแท้จริงแล้วปริมาณน้ำที่มีอยู่จริงตอนนี้มันมีน้อยเกินกว่าที่จะไม่มีการจัดการ และการจัดการน้ำในแบบโบร่ำโบราณนั้น ก็ไม่อาจนำมาใช้ได้ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว

“ตอนนี้เรามีน้ำจากเขื่อนใหญ่อยู่ 3 เขื่อน อ่างขนาดกลาง 367 อ่าง และขนาดเล็กอีก ประมาณ 9,000 อ่าง ถ้าไม่มีระบบชลประทานก็ไม่มีปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ กรมชลประทานนั้นได้เข้ามาบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยมากว่า 107 ปีแล้ว

“ในตอนนี้เราก็พยายามชี้แจงให้เกษตรกรในพื้นที่ และประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมดแล้ว ทั้ง อบต. - อบจ. เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เข้าใจว่าน้ำต้นทุนของเรามีอยู่แค่นี้เท่านั้น เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย อยากจะให้เอ็นจีโอที่ทำเรื่องน้ำเข้ามาเห็นข้อมูลว่าปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอจริงๆ เราอยากจะเห็นหน่วยงานเอ็นจีโอหันหน้าเข้ามาหากันเพื่อปรึกษากันว่าจะแก้ปัญหากันยังไง ทำอย่างไรให้พื้นฐานโครงสร้างของระบบจัดการน้ำนั้นดีที่สุด ตอนนี้มันเป็นวิกฤตแล้ว ซึ่งเราน่าจะถือเป็นโอกาสที่จะมาคุยกัน

“ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสภาวะโลกร้อน เนื่องจากเอลนีโญ และสภาพอากาศที่แปรปรวน เราอยากจะบอกว่าการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องจำเป็น มันสามารถอยู่กับธรรมชาติได้ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเราก็ต้องร่วมมือกันเพื่อดูแลเขาเหล่านั้นให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม มีการงานที่สามารถหาเลี้ยงชีพตนเองได้”
..........

ถึงแม้ว่าตอนนี้ จะไม่รู้แน่ชัดว่าแท้แล้วการจัดการน้ำโดยรัฐหรือการจัดการน้ำโดยชุมชน อย่างไหนจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ หลังเดือนกุมภาพันธ์ไป บ้านเราก็จะประสบกับความแห้งแล้งและก้าวสู่สภาวะข้าวยากหมากแพงอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงตอนนั้นข่าวการทะเลาะเบาะแว้งกันเพื่อแย่งน้ำก็คงจะมีให้ได้ยินหนาหูมากขึ้น ก่อนที่จะซาไปในช่วงปลายปี และกลับมาเยือนใหม่ในปีหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ...
..........

ภัยแล้งมาจากไหน

ภัยแล้งคือความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศที่เกิดจากฝนที่ตกน้อยกว่าปกติ หรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับระดับน้ำสะสมที่มีอยู่เพื่อใช้ในการบริโภคและการเกษตร ซึ่งภัยแล้งในประเทศไทยนั้น มีปัจจัยการเกิดหลายองค์ประกอบรวมๆ กัน ซึ่งอาจจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เกิดจากสภาวะอากาศในฤดูร้อน ร้อนมากกว่าปกติ
2. เกิดจากการพัดพาของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
3. เกิดจากความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม ทำให้ฝนตกไม่ต่อเนื่อง
4. ความผิดปกติ ที่เกิดจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยน้อยกว่าปกติ
5. การเผาพลาสติก น้ำมัน และถ่านหิน ที่ทำให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน
6. ผลกระทบจากปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก
7. การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมต่างๆ
8. การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น