xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มนุษย์ต้องการน้ำสำหรับบริโภคเท่ากับ 4 ลิตรต่อวัน แต่เมื่อพูดถึงการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอาหาร กลับต้องใช้น้ำมากถึง 2,000 ลิตรต่อคนต่อวัน ยิ่งเป็นคนในประเทศที่รับประทานเนื้อสัตว์มากๆ ปริมาณน้ำตัวนี้อาจสูงขึ้นถึง 4,000 ลิตรต่อคนต่อวัน ส่วนในกรุงเทพฯ 1 ครัวเรือนใช้น้ำเฉลี่ยเดือนละ 35 ลูกบาศก์เมตร

ข้อมูลอันน่าทึ่งในหนังสือจำพวกความรู้รอบตัวบอกว่า โลกประกอบด้วยพื้นที่ที่เป็นผืนน้ำถึง 2 ใน 3 แถมยังบอกต่อไปให้ชวนทึ่งและหวาดหวั่นด้วยว่า ปริมาณน้ำ 97 เปอร์เซ็นต์ของน้ำ 2 ใน 3 นี้ดันอยู่ในทะเล ที่เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำจืด แล้วใน 3 เปอร์เซ็นต์ที่แสนน้อยนี้ เป็นน้ำที่เราสามารถนำมาใช้ได้แค่ 0.036 เปอร์เซ็นต์

สรุปให้เห็นภาพ-น้ำบนโลกมีอยู่ทั้งหมด 512 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร แต่มีแค่นิดเดียว นิดเดียวจริงๆ ที่มนุษย์สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ และถ้าจะไม่ทำให้รู้สึกตกใจจนเกินไป ก็ต้องบอกว่า 512 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตรจะไม่มีวันลดน้อยลงไปกว่านี้ แต่มันก็จะไม่มีวันเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้อีกแล้วเหมือนกัน...

เป็นไปได้ว่าสำหรับคนเมืองที่สามารถเรียกน้ำได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัสอาจจินตนาการไม่ออกถึงการไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ขณะที่คนในชนบทกลับต้องเผชิญ ‘แล้งซ้ำซาก’ อยู่ชั่วนาตาปี

‘วิกฤตน้ำ’ อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะมองเห็นได้แจ่มชัดในช่วงอายุของเรา ยิ่งคนกรุงกำลังเหม็นเบื่อกับฝนตกติดๆ กันหลายวันจนเจิ่งนอง เดินทางลำบาก ยิ่งไม่คิดว่า ‘ฉันจะไม่มีน้ำใช้’ แต่จงเชื่อเถิดว่าความรุนแรงของมันกำลังคืบคลานเข้าใกล้เราอย่างเงียบๆ

1

นับจากปี 2543 ความต้องการใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่า มันคือแรงกดดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำและรวมไปถึงความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนด้วย เกิดการแปรเปลี่ยนทางระบบนิเวศขนานใหญ่ นี่ยังไม่นับการนำน้ำสำรองใต้โลกหรือน้ำบาดาลมาใช้ ที่ 3 ประเทศผู้ผลิตธัญญาหารยักษ์ใหญ่ของโลกคือ จีน อินเดีย และสหรัฐ ต่างเจาะและสูบกันอย่างสนุกมือ

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร, กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ, มลพิษทางน้ำอันเกิดจากการพัฒนา และการจัดการน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เป็น 4 ปัจจัยที่บีบให้วิกฤตน้ำของโลกรุดหน้าอย่างชวนพรั่นพรึง และถ้าจะให้อินเทรนด์ เราคงต้องบวกปัจจัยบีบคั้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอีกข้อ

ธนาคารโลกคาดการณ์อนาคตไว้ว่า ถ้าโลกยังก้าวเดินอย่างหุนหันพลันแล่นและใช้น้ำแบบไม่ยั้งคิด ในอีก 30 ปีข้างหน้าคนครึ่งโลกจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ

ไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะพูดว่าสงครามในวันข้างหน้าจะมีสาเหตุจากการแย่งชิงน้ำ

2

เรื่องราวของวันนี้ปริ่มด้วยข้อมูลชวนหม่นหมอง...

จากการพูดคุยกับคนที่ติดตามปัญหาเรื่องน้ำ อย่าง มนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิพื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ บอกว่าเมืองไทยยังไม่ถึงกับมีวิกฤตเรื่องน้ำ แต่ที่เป็นปัญหามากๆ จริงๆ คือการจัดการน้ำที่อยู่ในกำมือภาครัฐและมีโครงสร้างการจัดการน้ำที่ค่อนข้างจะไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาจากกรีนพีซ ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่า 92.68 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง 6.35 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลาง 49.43 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ 36.89 เปอร์เซ็นต์ และจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร (แน่นอนที่สุด), สมุทรปราการ , สมุทรสาคร, ชลบุรี และระยอง โดย 3 จังหวัดแรก 100 เปอร์เซ็นต์เต็มของพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยง ที่เหลือคือ 98.89 เปอร์เซ็นต์ และ 97.78 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรดูจะเป็นจำเลยหลักในการปล่อยมลพิษลงน้ำ แม้ภาคครัวเรือนจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่น้ำจากภาคครัวเรือนมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะน้ำเสียจากภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นสารอินทรีย์ซึ่งถ้าผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ตัวเลขการนำเข้าและการผลิตสารเคมีในประเทศไทยในปี 2550 สูงถึง 30.40 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2549 ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่รวมผลกระทบอันเกิดจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPPA ที่เปิดช่องทางให้ญี่ปุ่นสามารถส่งขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างสะดวกโยธิน สารเหล่านี้นอกจากจะทำลายแหล่งน้ำแล้ว ยังเป็นที่มาของโรคร้ายตั้งแต่โรคผิวหนัง ระบบต่างๆ ในร่างกาย จนถึงโรคมะเร็ง

เราตั้งคำถามกับ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษของกรีนพีซ ว่าสารเคมีที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมืองไทยมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือไม่รู้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม

“เราพยายามเสนอให้มีการทำทำเนียบการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ Toxic Release Inventory เป็นหลักการที่ว่าแหล่งกำเนิดสารพิษต่างๆ ควรจะต้องมีข้อมูลบอกว่าใช้สารเคมีใดบ้างในกระบวนการผลิตและปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณเท่าไหร่ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลตรงนี้ ซึ่งหลักการนี้ได้นำไปใช้ที่มาบตาพุดแล้ว

“หลักการนี้มีอยู่ ในต่างประเทศมีการทำ แต่เมืองไทยไม่ทำ ซึ่งภาครัฐอาจจะรู้ปริมาณตรงนี้ แต่ไม่เปิดเผยเพราะต้องการปกป้องโรงงานอุตสาหกรรม แต่เราจะทำยังไงให้มีกฎหมายบังคับโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งกำเนิดมลพิษมีการจัดทำบัญชีหรือทำเนียบข้อมูลตรงนี้ เมื่อรู้แล้ว มันจะนำไปสู่การลดลงในอนาคต สามารถตั้งเป้าหมายได้”


นอกจากนี้ เขายังเสนอว่าจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเป็น Green Production เพื่อลดปริมาณสารพิษในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด แทนที่จะไปแก้ที่ปลายเหตุด้วยการบำบัด ขณะที่ภาครัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“ทุกวันนี้ โรงงานอุตสาหกรรมเหมือนจะปล่อยมลพิษได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะกฎหมายบอกว่าปล่อยได้เท่านี้ ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ แต่มันสะสมในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นการอนุญาตให้ปล่อยได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการคุมที่ปลายเหตุ”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ก่อมลพิษนั้น เขาเห็นด้วย แต่จะต้องมีการวางมาตรการที่ชัดเจนและรัดกุม

3

ปัญหามลพิษในแหล่งน้ำถูกเข้าใจว่าเป็นปัญหาในเขตเมือง (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่) ส่วนในภาคชนบท ข่าวคราวที่เราจะต้องได้ยินทุกเมื่อเชื่อปีคือภัยแล้ง หรือที่มักจะเรียกว่า แล้งซ้ำซาก จนเกิดเป็นคำถามว่าทำไมถึงแล้งได้ทุกปี แล้วนี่ภาครัฐไม่ได้เตรียมการณ์อะไรเลยหรือ

ปัญหาแล้งซ้ำซากก็มีลักษณะเฉพาะอีกแบบที่แตกต่างไป เพราะบางปีมันก็มาพร้อมกับน้ำท่วมซ้ำซาก คนเสพข่าวก็งงสิว่าตกลงประเทศนี้ น้ำน้อยเกินไปหรือว่าน้ำมากเกินไปกันแน่

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันคิดให้แตกก็คือเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งในระยะหลังนี้ ถูกชี้นำโดยใช้โครงการเป็นตัวตั้ง

“ณ วันนี้ จากข้อมูลทั้งของกรมชลประทานและกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ก็พบข้อมูลที่ไม่ตรงกัน 2 อย่าง กรมชลฯ เวลาประกาศพื้นที่ที่ขาดน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ชลประทาน คือน้ำไม่พอที่จะส่งน้ำให้ถึง อย่างในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 7 ล้านกว่าไร่ แต่พอถึงช่วงฤดูนาปรังพื้นที่ชลประทานเหล่านี้ก็จะลดลงมาเหลือประมาณ 5 ล้านกว่าไร่ ซึ่งในจำนวน 5 ล้านกว่าไร่นี้ ในช่วงแล้งจะมีประมาณ 1 แสนไร่ที่น้ำส่งไปให้ไม่พอ เขาก็เลยมองว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการใช้น้ำ ส่วนที่ 2 คืออยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานหรือพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในการส่งน้ำในระบบชลประทานได้ พื้นที่เหล่านี้จะมีหนองน้ำธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว พอพื้นที่เหล่านี้ทำเรื่องไปขอน้ำหรือเครื่องสูบน้ำไปที่ชลประทานไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็จะถูกนิยามไปว่าเป็นพื้นที่ที่กำลังมีปัญหาขาดน้ำในระบบชลประทาน

“แต่พอมาถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขาคิดต่างกัน เพราะเขาคิดเรื่องการมีน้ำกินน้ำใช้ เช่น อบต. ก. ขอน้ำไปที่อำเภอ อำเภอก็จะบันทึกว่า อบต. นี้เริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำ ก็จะไปใช้งบ 50 ล้านของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นงบของผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่งบนี้จะใช้ได้ต้องประกาศพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ภัยแล้งก่อน ดังนั้น ตอนนี้จึงมีพื้นที่ที่ประกาศไปแล้ว 23 จังหวัด 5 พันกว่าตำบล เมื่อเทียบกับปีที่แล้วประกาศไปแค่ 3 พันกว่าตำบล ถามว่าทำไมต้องประกาศ เพราะถ้าไม่ประกาศ คุณก็ใช้งบนี้ไม่ได้ อันนี้คือของมหาดไทย เรื่องมันก็เลยพันกันระหว่างนิยามคำว่าภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา กับภัยแล้ง ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค มันกำลังซ้อนกัน จึงทำให้สังคมสับสนว่าจริงๆ แล้วมันกำลังแห้งแล้งขนาดไหน”
หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบาย

เขายอมรับว่าพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งมีอยู่จริง แต่ไม่มากมายดังที่ภาครัฐประกาศ แต่เมื่อใช้วิธีบริหารงบประมาณด้วยการประกาศพื้นที่ภัยแล้งแบบนี้ ย่อมเท่ากับกล่อมเกลาให้ประชาชนไม่รู้จักพึ่งตนเองและไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ เพราะยังไงๆ เดี๋ยวภาครัฐก็ต้องนำน้ำมาแจก แม้ว่าประชาชนในพื้นที่จะมีศักยภาพในการรับมือก็ตาม

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือ เวลาพูดว่าเกิดภัยแล้ง ฉะนั้น ก็ต้องหาน้ำ ก็ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม ผมคิดว่าการสร้างเขื่อนเพิ่มหนึ่งเขื่อน มันไม่ได้ตอบปัญหาภัยแล้งจากนิยามของทั้งหลายหน่วยงาน เพียงแต่มีความสบายใจและตอบคำถามได้ว่าลุ่มน้ำนั้นคุณจัดการน้ำยังไง

“มีงานวิจัยว่า การจัดการน้ำในเขื่อนเพื่อให้เกิดพื้นที่ชลประทานตามเป้าหมายนั้น เราทำได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่ตั้งไว้เท่านั้น ทำไม ผมยกตัวอย่างเช่นเขื่อนเชี่ยวหลานบอกว่าจะมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1 แสนไร่ ผมถามว่าเขื่อนเชี่ยวหลานสร้างเสร็จปี 26 ถึงปัจจุบันปี 52 เขื่อนเชี่ยวหลานกลับยังไม่มีพื้นที่ชลประทานเลย คำว่าพื้นที่ชลประทานหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จแล้วบางทีมันก็ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น ประการที่ 2 พื้นที่ชลประทานจากการสร้างเขื่อน ต้องทยอยสร้าง บางโครงการต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะครบตามจำนวนพื้นที่ชลประทานที่ระบุไว้”

4

กลายเป็นว่าการจัดการน้ำแหล่งงบประมาณขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายจับจ้อง เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็พยายามจะผลักดันโครงการ Water Grid มูลค่านับแสนล้านออกมาอีกรอบ ไหนจะโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำงึม แม่น้ำกก และอีกหลายๆ แม่น้ำทั้งในและนอกประเทศ

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่าโครงการเหล่านี้ถูกคิดเบ็ดเสร็จจากภาครัฐ โดยที่ภาคประชาชนไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนร่วมใดๆ ขณะเดียวกัน การจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง แล้วมันจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ มนตรี ยกตัวอย่างให้ฟังว่า

“ภาคกลางจะเป็นวิกฤตอีกแบบหนึ่ง ในภาคกลางหัวใจของวิกฤตหรือไม่วิกฤต ผมคิดว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ซึ่งวิกฤตของกรุงเทพฯ จะถูกจัดการต่างกันไป ภาคกลางอาศัยน้ำจากเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก ตอนหลังมีเขื่อนป่าสักอีกตัวหนึ่ง แต่สองเขื่อนแรกจะเป็นตัวคุมน้ำ และพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งของเขตเจ้าพระยาใหญ่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านไร่ ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีคลองส่งน้ำเป็นตาข่ายคลุมพื้นที่โดยมีเขื่อนชัยนาทเป็นตัวจ่ายน้ำ แต่จะมีการกันน้ำไว้ก่อนเสมอสำหรับน้ำประปาในกรุงเทพฯ กันน้ำไว้ก่อนเสมอสำหรับดันน้ำเค็ม แล้วน้ำที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งจึงจะนำมาเฉลี่ยให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ถ้าปีไหนน้ำน้อยมาก เราก็จะได้ยินประกาศให้งดทำนาปรังหรือส่งน้ำแบบสลับฝั่งคลอง

“ปัญหาชาวบ้านไม่ได้รับน้ำเต็มที่มันมีมาน้ำแล้ว แต่พอกรุงเทพฯ ขาดน้ำ สิ่งที่เป็นโครงการต่อเนื่องมาคือการไปเอาน้ำจากแม่กลองมาทำประปาฝั่งตะวันตก อันที่ 2 คือคิดโครงการผันน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพลกับผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมเขื่อนสิริกิติ์ ล่าสุด มีโครงการจะผันน้ำจากแม่น้ำกกในประเทศพม่ามาเข้าแม่น้ำปิงลงเขื่อนภูมิพลและเข้าแม่น้ำน่านลงเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อให้สองเขื่อนนี้มีน้ำเต็มตลอดเวลาที่จะสามารถจ่ายน้ำให้กับกรุงเทพฯ

“ทีนี้ในหน้าน้ำ เมื่อปี 2548 น้ำท่วมใหญ่มาก กรมชลประทานทำแผนที่น้ำท่วมในเดือนตุลาคมของทั้งภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งในแผนที่สีที่เป็นน้ำท่วมจะเป็นสีชมพูไล่ลงมาจากภาคกลางตอนบนลงมา แต่จะเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วสีชมพูจะแผ่ออกไปทั้งสองข้าง นี่คือวิธีแก้ปัญหาวิกฤตน้ำของกรุงเทพฯ โดยการผลักน้ำออกไปทางเขตราชบุรี นครปฐม กับอีกฝั่งหนึ่งด้วย ยังไงก็ตามน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้”

ปัญหาเรื่องน้ำจึงกลายเป็นวัวพันหลักที่แสนยุ่งเหยิงและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามผลักดันโครงการขนาดใหญ่โดยใช้น้ำเป็นตัวละครหลัก โดยไม่คิดจะถามไถ่ใครสักคน ทั้งที่โครงการขนาดเล็ก เช่น การขุดสระหรืออ่างเก็บน้ำสามารถตอบโจทย์ได้มีประสิทธิภาพมากว่า หรือปัญหาการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่ยิ่งน้ำเสียมีมากขึ้นเท่าไหร่ ภาครัฐก็ยิ่งต้องเตรียมน้ำไว้มากขึ้นเท่านั้นเพื่อดันน้ำเสีย

ใครจะรู้ ถ้ามนุษย์เรายังเล่นบทบู๊ล้างผลาญเช่นนี้ต่อไป ในอีก 100 ปีข้างหน้าน้ำอาจมีค่ามากกว่าทองคำ และเมื่อเรารู้ว่าเงินตราไม่มีค่าเลยเมื่อเทียบกับน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ถึงตอนนั้นก็อาจจะสายไปแล้ว

***********

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขอบคุณภาพจากกรีนพีซ








กำลังโหลดความคิดเห็น