คณะกรรมการอำนวยการฯ ควบคุมป้องกันหวัด 2009 ชุด "เสธหนั่น" ชงของบ ครม. 193 ล้าน รับมือหวัดแพร่ระบาด พร้อมเพิ่มคนทำงานเกี่ยวกับสัตว์ เป็นกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนป้องกัน แบ่งจาก 2 ล้านโดส ไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ด้านผู้เชี่ยวชาญเตือนหากคุมไม่ดีใน 2-3 สัปดาห์ เสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม 2 แสนรายต่อสัปดาห์ นอนโรงพยาบาลมากกว่า 10,000 คน ตายเพิ่มสัปดาห์ละ 10 ราย
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและควบคุม แก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณกลางปีจำนวน 193 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงาน 10 หน่วยงาน อาทิ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้เพิ่มกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 จากเดิมมี 5 กลุ่ม เพิ่มอีก 1 กลุ่ม ได้แก่ คณะทำงานเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมีประมาณ 500 คนโดยไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติม สามารถเจียดแจกจากวัคซีนที่มีอยู่เดิม 2 ล้านโดส
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในช่วงเวลานี้ ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดสู่ชนบท และเกิดเป็นหย่อมๆ ซึ่งคาดว่าการแพร่ระบาดในปีนี้จะดำเนินต่อไป แต่หากเทียบกับการระบาดระลอกแรกในปีที่ผ่านมา มีจำนวนน้อยกว่า และอัตราการเสียชีวิตลดลง โดยในการระบาดระลอกแรก มีคนไทยเสียชีวิตสะสมร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 3” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า หากพิจารณาจากบทเรียนของการแพร่ระบาดในระลอกแรกมีระดับของการแพร่ระบาดอยู่ 5 ขั้น ตั้งแต่ระดับน้อย ระดับมาก ระดับรุนแรง ระดับฉุกเฉิน และระดับวิกฤต ซึ่งจุดอันตรายของการแพร่ระบาดในระลอก 2 อยู่ในระดับรุนแรงและอาจทะลุสู่ระดับฉุกเฉินได้ หากควบคุมการแพร่ระบาดไม่ดีในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสัปดาห์ละ 10 คน จากปัจจุบันมีเพียงสัปดาห์ละ 3-5 คน เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณ 500 คนต่อสัปดาห์ โดยผู้ป่วย 1 คนจะมีอีก 300-400 คนที่มีเชื้อและแพร่กระจายอยู่ในชุมชน ดังนั้น ในแต่ละสัปดาห์มีประชาชนเสี่ยงที่จะติดเชื้อ 150,000-200,000 คน แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคในระลอก 2 ลดลง และไม่เสี่ยงที่จะก้าวสู่ในระดับฉุกเฉิน
ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระลอก 2 คาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นครึ่งหนึ่งของการระบาดในระลอกแรก ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดของการแพร่ระบาด และแนวโน้มอาจลดลงในช่วงหน้าร้อน และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งกลายเป็นการระบาดในระลอกที่ 3 โดยจะเกิดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม แต่จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าระลอกที่ 2 และระลอกแรก จากนั้นจึงจะเข้าสู่ระลอกที่ 4 ก่อนจะกลายเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
นพ.ศุภมิตร ชุณหรัศมิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สธ. กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในปี 2553 จะเกิดขึ้น 2 ระลอก โดยทั้งหมดจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นตัวหลัก ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของระลอกแรกของปี 2553 คาดว่าอาจมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 10,000 คน และอาจมีผู้เสียชีวิตราว 10-100 คน แต่จะน้อยกว่าการระบาดระลอกแรกของปีที่ผ่านมา
สำหรับงบประมาณเพิ่มเติม 193 ล้านบาท จะแบ่งให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมควบคุมโรค 51.6 ล้านบาท สำหรับใช้ในการเฝ้าระวังคนในพื้นที่เสี่ยง จัดหาเวชภัณฑ์ และคัดกรองผู้ไปแสวงบุญพิธีฮัจห์ และพัฒนาผู้นำกลุ่มเสี่ยง รณรงค์และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 10.2 ล้านบาท ใช้ในการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์และเชื้อดื้อยา กรมการแพทย์ 7 ล้านบาท สำหรับใช้พัฒนาทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต กรมประชาสัมพันธ์ 14 ล้านบาท รณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 11 ล้านบาท ใช้ในการเฝ้าระวังในสัตว์ในพื้นที่