เผยยอดจับนกพิราบวันแรก 2,612 ตัว แต่มีบินหนีจำนวนหนึ่งขณะที่รฟท.ให้เช่าที่ 2 ไร่สร้างบ้านพักคนไร้บ้าน เตรียมลงสำรวจและวางแผนการใช้พื้นที่สัปดาห์นี้
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่สนามหลวง เมื่อเวลา 12.30 น.ได้มีตัวแทนเครือข่ายสมาคมนกพิราบ ฐานะคณะทำงานตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมและปัญหาทางสังคมในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑล ด้านการเคลื่อนย้ายนกพิราบ ได้เริ่มดำเนินการจับนกพิราบสนามหลวงเป็นครั้งแรกเพื่อนำไปคัดกรองโรค และเลี้ยงก่อนส่งต่อไปให้เกษตรกรผู้สนใจนำไปเลี้ยงเพื่อขายไข่
โดย นายเนติ ตันติมนตรี นายกสมาคมมิตรภาพกีฬาแข่งนกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจับนกพิราบสนามหลวงครั้งแรกในวันนี้ถือว่าน่าพอใจเพราะมีนกพิราบอยู่ในกรงที่ใช้สำหรับล่ออาหารประมาณ 2,000 ตัวซึ่งนกแต่ละตัวที่ถูกจับได้เราจะให้กินยาถ่ายพยาธิ จากนั้นจับฆ่าเชื่อไร ฆ่าหมัดที่ติดมากับตัวด้วยการจุ่มลงในน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นนำใส่รถที่เตรียมไว้สำหรับเคลื่อนย้ายนกโดยเฉพาะเพื่อส่งตัวไปเลี้ยงในกรงระบบปิด กักโรค และตรวจสุขภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญ และสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ดุสิต ที่ซอยลาดพร้าว 87 ประมาณ 15 วัน และในระหว่างที่ตรวจโรคหากพบว่ามีนกป่วยทางเจ้าหน้าที่จะรักษาพยาบาลให้หายเป็นปกติ ก่อนจะส่งตัวไปให้เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงซึ่งมีทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เลย บุรีรัมย์ และสุโขทัย ซึ่งจะจัดให้เป็นคู่และพอดีเลี้ยงส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไรนั้นแล้วแต่ทางกทม.เป็นผู้พิจารณา
นายเนติกล่าวอีกว่า สำหรับนกถ้าหากจับได้และพบว่าเป็นนกแม่ลูกอ่อน อยู่ระหว่างการเลี้ยงลูกอยู่นั้น ก็จะแยกไว้ต่างหากโดยจะมีการใส่ปลอกพลาสติกสีเหลืองที่ขาก่อนปล่อยตัวกลับไปเลี้ยงลูกนกต่อ ทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เจ้าหน้าที่รับทราบว่า นกตัวดังกล่าวได้ผ่านการทำความสะอาดและถ่ายพยาธิแล้วและจะได้รับทราบว่าเป็นนกแม่ลูกอ่อน ส่วนการจับนกพิราบครั้งต่อไปนั้น จะเว้นช่วงไปอีก 7-10 วัน เพื่อให้นกคลายความหวาดกลัวโดยระหว่างนี้ก็จะมีการให้อาหาร เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งทางเราจะพยายามจับให้เหลือน้อยที่สุดหรืออย่างน้อยในรัศมี 10 กิโลเมตรนกจะน้อยลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการจับนกดังกล่าวทางสมาคมนกพิราบ ได้ใช้วิธีการจับโดย ให้เจ้าหน้าที่ให้อาหารนกเหมือนปกติ เมื่อนกเข้ากรงจำนวนมากแล้ว ได้ปิดตาข่ายทางเข้าลง ซึ่งทำให้นกพิราบตกใจและพยายามจะบินหนีเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทำได้ จากนั้นเข้าหน้าที่ได้ใช้สวิงที่ทำมาจากกระสอบพลาสติกสีขาวจับนกก่อนที่จะมาขังไว้ที่ตระกล้า เพื่อรอการทำความสะอาดและส่งตัวไปยังสถานที่เลี้ยงแห่งใหม่โดยบรรยากาศการจับนกดังกล่าวได้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาเฝ้ารายงานกิจกรรมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้ค้าขายอาหารนกรอบสนามหลวง นั้นไม่ได้เข้ามาก่อกวนแต่อย่างใด แต่มีผู้ค้าบางรายได้พยายามให้อาหารนกบริเวณทางเท้าฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย นอกจากนั้นในพื้นที่สนามหลวงได้มีกำลังทหารเริ่มเข้าปฏิบัติการพื้นที่ในสนามหลวง เพื่อเตรียมการจัดงานวันมาฆบูชาที่สนามหลวงในสัปดาห์หน้าอีกด้วย
ด้าน นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าของคณะทำงานตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมและปัญหาทางสังคมในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑล ด้านการเคลื่อนย้ายนกพิราบว่า หลังจากที่ได้เริ่มจับวันนี้เป็นวันแรกว่า ทางคณะทำงานได้แจ้งตัวเลขจำนวนนกพิราบที่สามารถจับได้วันนี้ทั้งสิ้น 2,612 ตัว และมีบางส่วนที่สามารถบินหนีออกไปจากกรงได้ด้วยการรวมตัวกันผลักตาข่ายที่ใกล้เป็นทางเข้าออกของเจ้าหน้าที่ ออกไปได้จำนวนหนึ่ง แต่คาดว่าไม่น่าจะทำให้เป็นอุปสรรคในครั้งต่อไป สำหรับกลุ่มผู้ค้าสนามหลวงที่ยังคงไม่ยอมย้ายไปในพื้นที่ที่กทม.จัดให้ บริเวณตรอกสาเก และริมคลองหลอดนั้น เบื้องต้นตนเข้าใจว่าอาจจะเกรงได้รับผลกระทบเพราะขณะนี้ทาง บช.น. ปิดพื้นที่ริมรั้วศาลฏีกาไว้จนกว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างนี้กทม.จะจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อย่างเร่งด่วน ส่วนตรอกสาเกนั้นตนไม่ทราบเช่นกันว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่เร็วๆ นี้ตนจะนำหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมผู้ค้าสนามหลวงถึงไม่ยอมย้ายออกไปจากพื้นที่สนามหลวง
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากที่ได้เข้าหารือวันนี้กับนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเจรจาขอเช่าที่ของการรถไฟ บริเวณริมรางรถไฟ เขตบางกอกน้อย เพื่อใช้สร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้านที่อพยพย้ายมาจากพื้นที่สนามหลวง ซึ่งทางรฟท.ยินดีที่จะให้กทม. เช่าพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 1-2 ไร่ หรือ 1,200-1,600 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์พักคนไร้บ้าน (สุวิทย์ วัดหนู) ซึ่งเป็นที่ขององค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ประมาณ 700 เมตร ไว้สำหรับสร้างที่พัก เบื้องต้นภายในสัปดาห์นี้กทม.จะลงพื้นที่พร้อมกับตัวแทนของรฟท. เพื่อสำรวจและวางแผนการใช้พื้นที่ พร้อมกับร่างข้อตกลงร่วมกันระหว่างกทม. และรฟท. ว่าจะเช่าระยะยาวหรือช่วงแก้ไขปัญหา 1-3 ปี ส่วนอัตราค่าเช่านั้น เบื้องต้นจะใช้ข้อตกลงที่ได้ทำไว้สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. คือตารางเมตรและ 200 บาทต่อปี ส่วนการสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้นอาจจะอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กทม.และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) (พอช.) รวมถึงรฟท. ด้วย ซึ่งการช่วยเหลือด้านที่พักระยะเร่งด่วนนั้นคงจะทำในลักษณะกางเต๊นท์ให้พัก ส่วนคนไร้บ้านที่สามารถอาศัยได้ ต้องเป็นบุคคลที่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ เช่น เก็บขยะ
สำหรับพื้นที่รองรับคนไร้บ้านพื้นที่อื่นๆ นั้น นายธีระชน กล่าวว่า เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในชุมชนใกล้เคียง คงต้องเลิกล้มความคิด หันมาพัฒนาพื้นที่ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ซึ่งขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีการสร้างศูนย์ใหม่ที่ริมทางรถไฟ เขตบางกอกน้อย และอาคารแห่งใหม่ในพื้นที่ของศูนย์บริการผู้สูงอายุ เขตดินแดง ซึ่งจะสร้างไว้เพื่อรองรับคนไร้บ้าน เพศหญิง คนชรา และเด็ก