เล็งใช้ศูนย์คนไร้บ้าน เขตบางกอกน้อยเป็นต้นแบบแก้ปัญหาคนเร่ร่อนใน กทม. “ธีระชน” รับเหตุที่แก้ปัญหาไม่ได้เพราะที่พักรัฐจัดให้ระเบียบมากอยู่ได้แค่ 2 สัปดาห์ เผยหลายหน่วยงานเสนอให้ใช้พื้นที่ร่วมแก้ปัญหา
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์คนไร้บ้านเขตบางกอกน้อย ถนนจรัญสนิทวงศ์ ว่า
กทม.มีนโยบายการปรับภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑล ซึ่งปัญหาสำคัญในพื้นที่สนามหลวง คือ ปัญหาทางสังคมที่มีกลุ่มคนไร้บ้านกว่า 500 คนเข้าใช้พื้นที่
ดังนั้น ก่อนจะมีการปิดปรับปรุงสนามหลวงจะต้องแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้านให้มีที่พักพิงชั่วคราว จึงได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินการของศูนย์คนไร้บ้านเขตบางกอกน้อย ที่เกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งเครือข่ายคนไร้บ้าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือพอช. เครือข่ายสลัม 4 ภาค สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม.ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นในปี 2544 พอช.ได้ประสานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดหาพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ถนนจรัญสนิทวงศ์ พื้นที่400 ตารางวา เป็นพื้นที่พักพิงให้คนไร้บ้าน จนปี 2551 ได้จัดสร้างเป็นอาคารถาวร 2 ชั้นให้คนไร้บ้านอาศัยรองรับได้จำนวน 60 คน ปัจจุบันมีคนไร้บ้านอยู่ที่นี่จำนวน 33 คน แต่มีการหมุนเวียนเข้าออกเดือนละ 100 คน นอกจากจะมีที่พักให้แล้ว ยังมีการส่งเสริมอาชีพโดยการจัดตั้งศูนย์วัสดุรีไซเคิล กลุ่มอาชีพซาเล้ง เพื่อให้คนไร้บ้านมีรายได้ นับเป็นต้นแบบที่ กทม.จะนำไปใช้ เพราะปัญหาที่ผ่านมาที่ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านได้เนื่องจากแม้จะจัดที่พักให้แต่ก็มีระเบียบมาก และสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ การฝึกสอนอาชีพระยะสั้น 2 สัปดาห์ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการจัดหาที่อยู่อาศัยระยะยาวจนกว่าคนไร้บ้านจะสามารถมีรายได้และหาที่อยู่ใหม่ได้
นายธีระชนกล่าวอีกว่า กทม.จะนำต้นแบบศูนย์คนไร้บ้านไปใช้ในพื้นที่อื่นที่มีปัญหา โดยมอบหมายให้สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัย ประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานราชพัสดุ หรือหน่วยงานที่มีที่ดินเพื่อนำมาจัดสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้คนไร้บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านที่สนามหลวง ขณะนี้ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เสนอที่ว่างเปล่า 2 แห่งบริเวณถนนเจริญนคร 55 และ ชุมชนสวนเงิน ถนนพระราม 6 พื้นที่แห่งละ 100 ตารางวา นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่บริเวณถนนเชื้อเพลิง เขตคลองเตย จำนวน 5 ไร่ เป็นทางเลือกขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด
ด้าน นายสุชิน เอี่ยมอินทร อายุ 56 ปี ตัวแทนจากศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย ให้สัมภาษณ์ว่า เคยอยู่สนามหลวง 3 ปีตั้งแต่ปี 2544 เนื่องจากตกงาน หาเลี้ยงชีพโดยการเก็บขยะขาย เมื่อทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิมาพูดคุยทำความเข้าใจอยู่นาน ประกอบกับนโยบายไม่ให้คนอาศัยในพื้นที่สนามหลวงจึงตัดสินใจเข้าอาศัยที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันตนยังคงเก็บของเก่าขาย แต่คุณภาพชีวิตดีขึ้น