xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็ก 3 เดือนเป็นหวัด 2009 คาดดื้อยาโอเซลทามิเวียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ห่วงหวัดใหญ่ 2009 จับตาระบาดสูงถึงช่วง มี.ค.เผยพบเด็กอายุ 3 เดือน ป่วยหวัด 2009 สงสัยดื้อยา "โอเซลทามิเวียร์" เร่งให้ "ซานามิเวียร์" แทน เตือนสธ.สำรองยา "พารามิเวียร์" ลดการเสียชีวิตผู้ป่วยหนัก ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ระหว่าง ม.ค.–ธ.ค.2552 ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ร้อยละ 1.61 ชี้ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ส่วนยอดกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนหวัดใหญ่แล้ว 1.7 แสนคน

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุม “การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (เอช1เอ็น1) 2009 ปลอดภัยจริงหรือ” ว่า การระบาดของโรคในช่วงนี้ถือเป็นช่วงระบาดสูงสุด ซึ่งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระลอกที่ 2 น่ากังวลมาก เพราะหลายส่วนลดความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ย่อหย่อน ทั้งประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เอง ขณะที่บางโรงเรียนเมื่อพบนักเรียนที่ป่วยเป็นไข้ก็จะไม่ยอมให้หยุดเพราะใกล้ที่จะสอบ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการระบาดจะยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงช่วงปิดเทอมซึ่งเหลืออีกประมาณ 1-2 เดือน ทั้งนี้ จะมีการระบาดต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มี.ค. และปลายมี.ค.-เม.ย. การระบาดน่าจะสงบลง อย่างไรก็ตามการระบาดในระลอกที่สองจะไม่หนักเท่าช่วงเดือนส.ค.- ก.ย.2552 แน่นอน

รศ.นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีเด็กอายุ 3 เดือน ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มาจากแม่ของเด็ก ขณะนี้มีอาการป่วยมาแล้ว 15 วัน พบปัญหาสงสัยว่าจะดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ โดยตอนนี้แพทย์ให้การรักษาโดยการให้ยาซานามิเวียร์ซึ่งเป็นยาพ่นแทน รวมทั้งเตรียมผลักดันให้ สธ.สำรองยาพารามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาฉีดเข้าเส้น ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยหนัก ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ จากการตรวจเม็ดเลือดผู้ป่วยที่รับยานี้พบว่ามีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าควรมีการสำรองยาชนิดนี้หากการให้ยาของทั้งโอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์ เพื่อป้องกันหากเกิดปัญหาการดื้อยา ซึ่งเชื่อว่าในระดับกระทรวงได้มีการหารือเรื่องการสำรองยาโพลามิเวียร์ไว้แล้ว

“ ต้องยอมรับว่ายาที่เรามีอยู่ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากที่ขนาดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะเป็นยาแบบกิน กับแบบพ่นจำเป็นจะต้องมียาชนิดที่ฉีดเข้าเส้นเลือด จึงควรที่จะหาทางสำรองยาพารามิเวียร์ไว้ใช้ในกรณีจำเป็น” นพ.ทวี กล่าว

ด้าน นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการทดสอบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาต่อโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ตั้งแต่เดือนมกราคม–ธันวาคม 2552 พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ดื้อยาเพียงร้อยละ 1.61 ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ส่วนสาเหตุของการตรวจพบเชื้อไวรัสดื้อยามาจากหลายปัจจัย เช่น มีการใช้ยาต้านไวรัสจำนวนมากและไม่เป็นไปตามข้อแนะนำของแพทย์ รวมทั้งการติดต่อจากคนสู่คนของประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ

“อย่างไรก็ตามแพทย์จะไม่สั่งยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยหากไม่จำเป็น เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวหายได้ภายในไม่กี่วัน ด้วยการนอนหลับ พักผ่อนหรือให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูกตามอาการป่วยที่แสดงออกมา ยกเว้นผู้ที่มีอาการหอบหืด ปอดบวม หรือเจ็บหน้าอกอย่างใดอย่างหนึ่งแพทย์จะสั่งยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพิ่มเป็นพิเศษ” นพ.ปฐม กล่าว

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานจากหลายจังหวัดรายงานเข้ามาว่าเริ่มมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีอาการหนักมาขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบอกถึงการระบาดในระลอกที่สองแล้ว แต่เชื่อว่าจะไม่ระบาดหนักเท่าครั้งแรก ผู้ป่วย 3 รายล่าสุด ที่เสียชีวิตนั้นก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงจะต้องทำต่อไป แต่ต้องเป็นด้วยความสมัครใจเท่านั้น ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กำชับมาว่าควรที่จะซักประวัติอย่างละเอียดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทุกครั้ง

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง 5 กลุ่ม ในช่วง ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ได้รับรายงานมีผู้มารับบริการวัคซีนแล้ว 174,500 คน ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 110,691 คน คิดเป็นร้อยละ 29 จาก 371,424 คน กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง42,028 คน คิดเป็นร้อยละ 5 จาก 842,895 คน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 15,578 คน คิดเป็นร้อยละ 3 จาก 500,915 คน กลุ่มบุคคลโรคอ้วน 4,843 คน คิดเป็นร้อยละ 3 จาก 182,384 คน และกลุ่มผู้พิการรุนแรงที่ช่วยตนเองไม่ได้ 1,360 คน คิดเป็นร้อยละ 2 จาก 72,132 คน อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงที่การระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้น เกือบเท่าระลอกแรกและผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงขอให้กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ฉีดวัคซีนตัดสินใจฉีดวัคซีน เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่าที่จะปล่อยให้ป่วยซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น