สถานการณ์โรคหวัด 2009 ในรอบสัปดาห์นี้น่าห่วง คาดมีผู้ติดแล้วนับแสนราย เผยผลตรวจห้องปฏิบัติพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น 30% ยังไม่พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ กระตุ้น 5 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน ย้ำผู้เชี่ยวชาญยืนยันชัดเจนวัคซีนไม่ทำให้แท้ง
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ขณะนี้มีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากรอบสัปดาห์นี้เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีผู้ติดเชื้อคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์คาดว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วนับแสนราย กระจายอยู่ใน 10 จังหวัด ตามสถานที่ชุมชุมชนต่างๆ โดยมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องทำให้แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดสูงขึ้นแต่ก็สามารถสกัดการแพร่ระบาด รวมทั้งสามารถให้ยาโอเซลทามิเวียร์รักษาได้ทันท่วงทีทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่เพิ่มสูงขึ้น
“ตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นเห็นได้จากสัญญาณการตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในห้องปฏิบัติการ มีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน จากเดิมตรวจพบประมาณ 20% ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 30% ซึ่งนอกจากจะมีการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังทำการตรวจเชื้อดื้อยาด้วยซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการดื้อยาแต่อย่างใด”นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มาตรการรับมือไข้หวัดใหญ่ระลอก 2 ในขณะนี้ นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน 5 กลุ่มเสี่ยง ถือว่าเป็นมาตรการที่มีความสำคัญที่สธ.พยายามเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับวัคซีน เนื่องจากการให้บริการวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประชาชนยังคงตื่นตระหนกและเข้าใจผิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันชัดเจนแล้วว่า วัคซีนไม่ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์แท้งบุตรแต่อย่างใด รวมทั้งจากการฉีดวัคซีนทั่วโลกก็ไม่พบว่า วัคซีนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่15ก.พ.นี้ จะแถลงความคืบหน้า ตัวเลขล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มสะท้อน ให้เห็นว่าโรคมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 100 คน พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จำนวน 25 คน จึงต้องเร่งเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกัน
นอกจากมาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยแล้ว ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีน เป็นมาตรการใหม่ป้องกันเพิ่มเติม เร่งรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม เข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ โดยผู้ให้บริการฉีดจะต้องปฏิบัติตามาตรฐาน 6 ข้อที่กำหนด อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ตรวจสุขภาพ มีเครื่องมือช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการแพ้รุนแรง ต้องเฝ้าระวังอาการหลังฉีดวัคซีนแล้ว 30 นาทีโดยแพทย์ และมีมาตรการติดตามอื่นๆภายหลังฉีด ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนจะได้รับการดูแล
ขณะนี้วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดซื้อมาจำนวน 2 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 1 แสนกว่าโดส ยังเหลืออีก 1 ล้าน 8 แสนกว่าโดส พร้อมที่จะให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น มีไม่มากไปกว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปกติ ที่ใช้ฉีดมาแล้ว10 กว่าปี เป็นคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ วัคซีนที่นำมาฉีดครั้งนี้นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ได้รับคำการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และทุกโดสที่นำไปฉีดได้ผ่านการตรวจรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว