xs
xsm
sm
md
lg

บังคับแล้ว 20 กระทรวงเป็นสถานที่ปลอดเหล้าห้ามโฆษณา ปีหน้าขยายลงอบต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

20 กระทรวง ลงนามความร่วมมือให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายควบคุมเหล้าพ.ศ. 2551 งดการโฆษณาทุกประเภท ยกเว้นให้ขายได้เฉพาะในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการถาวรและได้รับอนุญาตเท่านั้น ในปีนี้เน้นส่วนกลางและเขตอำเภอเมืองในภูมิภาค ปีหน้าจะขยายผลครอบคลุมอปท. อบต.กว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เป็นประธานลงนามความร่วมมือการจัดสถานที่ราชการ 20 กระทรวง 8 สำนักบริหารกลาง และสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแล เป็นสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี ก.กลาโหม ก.การคลัง ก.การต่างประเทศ ก.การท่องเที่ยวและกีฬา ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก.เกษตรและสหกรณ์ ก.คมนาคม ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก.พลังงาน ก.พาณิชย์ ก.มหาดไทย ก.ยุติธรรม ก.แรงงาน ก.วัฒนธรรม ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก.ศึกษาธิการ ก.อุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนง.อัยการสูงสุด คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนง.เลขาธิการสภาการศึกษา สนง.คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนง.คณะกรรมการการอาชีวศึกษา สนง.คณะกรรมการการอุดมศึกษา และสสส. เพื่อให้หน่วยงานราชการและข้าราชการเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบการของสถานที่สาธารณะอื่นๆด้วย ในปีนี้ดำเนินการในส่วนกลางและเขต อำเภอเมืองของ 75 จังหวัด ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ กำหนดให้ สถานที่ราชการปฏิบัติพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีดังนี้ 1.จัดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลของราชการปลอดการขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อยกเว้นให้ขายได้เฉพาะในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวรและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสถานที่ราชการนั้นๆ เท่านั้น โดยห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และขายได้เฉพาะในเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นคือเวลา 11.00-14.00น. และ เวลา 17.00-24.00น. 2.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท โดยมีผลใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน เริ่มในเดือนพฤษภาคม 2553 และในปี 2554 จะขยายผลไปเขต อปท. อบต.ทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่ง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืน กล่าวคือหากโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท และถ้าขายหรือบริโภคในสถานที่หรือบริเวณต้องห้ามตามกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการฝ่าฝืนการขายผิดเวลากำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางพรรณสิริ กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ สังคมโดยรวม เช่นก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากการดื่มแล้วขับ ปัญหาอาชญากรรม พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น โรคเอดส์ ความเสื่อมวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลและควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามป้องกันและควบคุมปัญหาดังกล่าวทุกวิถีทาง เครื่องมือสำคัญหนึ่งในการดำเนินการ คือการร่างและผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 อันนับเป็นกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับแรกของไทยที่มีเจตนารมณ์ในการป้องกันควบคุมผลกระทบในทุกมิติที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นที่การคุ้มครองเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป

ผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พบมีการตราอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกออกมาแล้วถึง 14 ฉบับ และได้ร่างเตรียมการนำเสนอกฎหมายลูกไว้อีก 12 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองและนำเสนอตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย สำหรับการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายพบว่ามีเรื่องร้องเรียน 852 เรื่อง, สอบถาม 1,410 เรื่อง, ได้ออกตรวจเตือน 690 ราย, ออกตรวจจับ 223 ราย โดยมีคดีที่ได้กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนไปแล้วกว่า 300 คดี โดยศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วประมาณ 70 คดี ที่สำคัญคือ การดำเนินการดังกล่าวแม้ถูกบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟ้องศาลปกครองให้หยุดการบังคับใช้กฎหมายและเพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งออกมาเพื่ออธิบายการปฏิบัติตามกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น แต่ท้ายที่สุดศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยไม่รับฟ้อง แสดงว่ากระทรวงได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว จึงขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เป็นห่วงและสนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด การควบคุมป้องกันการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยใช้ความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่าย ดังนั้นการลงนามของหน่วยราชการต่างๆครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการรณรงค์การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ และสร้างวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางเว็บไซต์ www.thaiantialcohol.com เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลความรู้พิษภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง จากการประเมินผลในปี 2552 พบว่ามีประชาชนเข้าชม 286,128 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 33 ครั้ง

สถานการณ์คนดื่มเหล้า ในปี 2551 ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่าไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นประมาณปีละ 2.6 แสนคน โดยเฉลี่ยดื่มเหล้าคนละ 7-8 ลิตรต่อปี ถือว่ามากติดอันดับต้นๆของเอเชีย ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งอายุ 25-29 ปี ดื่มมากสุดถึงร้อยละ 34 ที่ชอบดื่มมากคือ เบียร์ร้อยละ 69 รองลงมาเป็นสุราร้อยละ 19 ที่น่าตกใจคนไทยเสียชีวิตเพราะดื่มเหล้า 18,000 รายต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น