วธ.รับคืนโบราณวัตถุครั้งใหญ่กว่า 2 พันชิ้น พร้อมสั่งการ “กรมศิลป์” ตามเก็บโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ ด้าน “เกรียงไกร” เผยขาดข้อมูลขอของคืน เหตุคนไทยไม่ชอบจด
วันนี้ (11 ก.พ.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วย นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร และคณะผู้บริหาร (วธ.) แถลงข่าวรับมอบโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุสมัยบ้านเชียง ที่ได้รับคืนมายังกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน จำนวนกว่า 2,000 รายการ
โดยนายธีระ กล่าวว่า จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเก็บรักษาโบราณวัตถุ และช่วยกันรักษา ขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้มีจิตศรัทธานำโบราณวัตถุที่เก็บรักษาไว้กว่า 10 ปี จำนวนว่า 2 พันชิ้นมามอบให้กรมศิลปากรรักษาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งการได้คืนโบราณวัตถุครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปในบางส่วนได้ อาทิ รูปแบบของโบราณวัตถุดินเผาบ้านเชียงซึ่งมีอายุถึง 3 – 4 พันปีขึ้นไปนั้น แต่ละภาชนะมีลวดลายซึ่งแตกต่างกันหมด ดังนั้นการที่ได้คืนมาจะเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป
ด้านนายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า กรมศิลปากรได้รับมอบหมายจาก รมว.วธ. ให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อติดตามตรวจสอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่อยู่ในต่างประเทศ หากพบว่าเป็นโบราณวัตถุที่มาจากประเทศไทย ก็จะดำเนินการขอรับคืนนำกลับมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศตะวันตก และเอเชีย
โดยโบราณวัตถุที่หายไปส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป และเครื่องปั้นดินเผา เท่าที่ทราบทุกๆพิพิธภัณฑ์ตามต่างประเทศมีโบราณวัตถุของไทยเป็นจำนวนมาก แต่ไทยจะต้องมีหลักฐานเอกสารหรือรูปถ่ายยืนยันความเป็นเจ้าของแล้วจึงทำเรื่องขอกลับคืน หากไม่มีหลักฐานจะไปอ้างไม่ได้ เช่น ศิราภรณ์ ที่พบอยู่ทางประเทศแถบตะวันตก มีลักษณะคล้ายกับกรุวัดราชบูรณะ แต่เราไม่มีหลักฐานจึงยังขอคืนไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บเอกสารข้อมูล
สำหรับรายละเอียดโบราณวัตถุที่ได้รับคืนระหว่างปี 2552 – ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2552 จำนวน 1,226 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด ได้แก่ ลูกชั่ง 408 รายการ เงินฮ่อย 27 รายการ ลูกกลิ้ง 136 รายการ กล้องยาสูบ 42 รายการ ห่วงสำริดและกำไลสำริด 395 รายการ เครื่องประกอบคานหามและคันฉ่อง 55 รายการ
กระดิ่งและกระพรวน 30 รายการ ลูกปัดชนิดต่างๆ 46 รายการ กำไลแก้วและกำไลหิน 4 รายการ แวดินเผา 9 รายการ หินดุ 1 รายการ ทัพพีดินเผา 5 รายการ เครื่องถ้วน 7 รายการ ขวานหิน 15 รายการ ขวานสำริด 15 รายการ ถาดโลหะ 7 รายการ ฆ้อง 6 รายการ ภาชนะโลหะ 2 รายการ แม่พิมพ์ขวานหิน 2 รายการ ใบหอก 4 รายการ เบ้าดินเผา 1 รายการ
อาวุธ 1 รายการ ตุลุ่ม 1 รายการ กะโหลกมนุษย์ 1 รายการ ขันสำริด 6 รายการ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 62 รายการ เป็นประเภทประติมากรรมหิน และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 – 5 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวนกว่า 1,000 รายการ แบ่งเป็น ประเภท เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จำนวน 600 รายการ เครื่องปั้นดินเผาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มไหเท้าช้าง จำนวน 150 รายการ เครื่องปั้นดินเผาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มกระปุกขนาดเล็ก จำนวน 240 รายการ เครื่องเรือนประเภทโลหะ เช่น นาฬิกา และอื่นๆ จำนวน 10 รายการ เศษชิ้นส่วนดินเผาบ้านเชียงอีก จำนวน 27 ลัง