xs
xsm
sm
md
lg

พม.ยันยื่นมือช่วย “ครูน้อย” แสนบ./ปี ตลอด “อิสสระ” วอนส่งเด็กให้ดูแลต่อ ตัดภาระค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูน้อย
ปลัด พม.ยันยื่นมือช่วยครูน้อยมาตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบัน ปีละกว่าแสนบาท เผย พม.อาสาดูแลเด็กให้แล้ว แต่ครูน้อยยันปฏิเสธบอกดูเองได้ “อิสสระ” ชี้ครูน้อยให้เงินเด็กไม่เป็นระบบ ไม่ควบคุมบัญชี รับ พม.ใช้หนี้แทนไม่ไหว วอนขอเด็กให้ดูต่อ ตัดภาระค่าใช้จ่าย พร้อมอุดหนุนค่าเล่าเรียน ค่าอาหารให้ ด้านเอ็นจีโอเด็กชี้ครูน้อยอย่าทนแบกภาระ หากรับไม่ไหวให้ส่งต่อภาครัฐดูแลแทน

วันนี้ (8 ก.พ.) นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณี นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ ครูน้อย ผู้ก่อตั้งบ้านครูน้อย สถานช่วยเหลือเด็กยากไร้ ที่เรียกร้องขอความช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 8 ล้านบาท ว่า พม.ได้ช่วยเหลือบ้านครูน้อยมาตลอด ตั้งแต่ประสบปัญหาเมื่อปี 47 และช่วยเหลือมาจนถึงปัจจุบัน โดยช่วยเป็นเงินค่าอาหารของเด็กเดือนละกว่า 10,000 บาท หรือปีละแสนกว่าบาท ซึ่งล่าสุดเมื่อเกิดปัญหาตนก็ส่งนักสังคมสงเคราะห์ไปดูที่บ้าน พบว่าครูน้อยมีเด็กที่ดูแล 72 คน แต่ที่กินอยู่นอนค้างบ้านครูน้อยมีจำนวน 18 คน ส่วนที่เหลือเป็นเด็กในชุมชนที่มีพ่อแม่ก็จะกลับไปนอนที่บ้าน ตอนเช้าจึงมากินข้าวและรับเบี้ยเลี้ยงไปโรงเรียน ซึ่งตนไปดูบ้านครูน้อยเองหลายครั้ง และเคยพูดคุยกับครูน้อยแล้วว่ากรณีเด็กที่เลี้ยงไม่ได้จริงๆ สามารถส่งมาให้ พม. ดูแลได้ โดยไม่ขัดข้อง แต่กรณีเด็กมีพ่อแม่ก็ต้องถามความเห็นยินยอมก่อน

“ความจริงบ้านครูน้อยมีเงินบริจาค และเงินที่ พม.สนับสนุน ซึ่งปัญหาบ้านครูน้อยผมไปดูเองมาหลายครั้ง และบอกครูน้อยว่าหากมีปัญหา พม.จะรับไปดูแลเอง สำหรับเด็กชายเรามีสถานสงเคราะห์บ้านปากเกร็ดดูแล ส่วนเด็กหญิงเรามีบ้านราชวิถีดูแล แต่ครูน้อยก็บอกว่าดูแลเองได้ ล่าสุดที่มีปัญหาหนี้นอกระบบครูน้อยก็ยังบอกดูแลได้อีก”ปลัด พม.กล่าว

ขณะที่ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เท่าที่ทราบการจ่ายเงินของครูน้อยให้กับเด็ก ไม่ได้ทำเป็นระบบ ไม่มีการควบคุมบัญชี เด็กที่มารับเงินเป็นเด็กในชุมชนไม่ใช่เด็กในบ้าน ดังนั้นปัญหาหนี้นอกระบบ ตนเห็นด้วยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะต้องเข้าไปแก้ปัญหา โดยเชิญเจ้าหนี้ทั้งหมดมาหารือเพราะการจ่ายหนี้วันละ 5 หมื่นหรือเดือนละ 1.5 ล้านบาท จะใช้หนี้อย่างไร พม.คงใช้หนี้แทนครูน้อยไม่ไหว แต่สามารถรับเด็ก 18 คนในบ้านครูน้อยมาเลี้ยงได้ หรือให้เด็กอยู่ในความดูแลของครอบครัวอุปการะ โดย พม.จะอุดหนุนค่าเล่าเรียน ค่าอาหารให้ ตนอยากแนะนำครูน้อยว่าปัญหาอุปสรรคมากมายอย่างนี้ การดูแลเด็กอาจทำได้ไม่ดี ขอให้นำเด็กมาให้พม.ดูแลเพื่อตัดภาระค่าใช้จ่ายจะดีกว่า

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) พม. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเอกชนบางรายอยากดำเนินการเอง บ้านครูน้อยได้จดทะเบียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ตั้งแต่ปี 2535 และมาต่ออายุอีกครั้งเมื่อปี 2542 ซึ่งความจริงในการเข้าไปตรวจสถานที่ ตามกฎหมายจะรับเลี้ยงเด็กอายุ 0-6 ขวบ ได้ไม่เกิน 15 คน และจะได้รับอุดหนุนเงินค่าอาหารจากกรมพัฒนาสังคมฯ หัวละ 48 บาทต่อวัน ซึ่งแม้เด็กจะอายุเกิน 6 ขวบ ก็จ่ายเงินอุดหนุนให้มาตลอด แม้ครูน้อยจะไม่แจ้งต่ออายุสถานรับเลี้ยงเด็กทุกปีก็ตาม

“เราอุดหนุนเงินให้มาตลอด จนปี 53 รายชื่อเด็กที่ครูน้อยส่งมาให้อายุเกิน 18 ปีทั้งหมดแล้ว และครูน้อยไม่ได้แจ้งรายชื่อใหม่เข้ามา กระทรวงจึงได้หยุดจ่ายเงินไปก่อน อย่างไรก็ตามครูน้อยเคยร้องเรียน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยเป็นนายกฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 50 ซึ่งกระทรวงก็ช่วยจ่ายเงิน ให้กว่า 43,000 บาท พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน อย่างต่อเนื่องมาตลอด” อธิบดี พส. กล่าว

นางมาริน วีระสุนทร นักสังคมสงเคราะห์สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด กระทรวง พม.กล่าวว่า พม.ส่งนักสังคมสงเคราะห์มาดูแลบ้านครูน้อยหลายครั้ง หลังเกิดปัญหาล่าสุด ตนได้มาที่บ้านครูน้อยเบื้องต้นพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ คือ เรื่องหนี้นอกระบบ แต่เรื่องการดูแลเด็กนั้นครูน้อยบอกว่ายังดูแลได้ โดยมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 3 แสนบาท ให้เด็กใช้จ่ายเรื่องการเรียน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 6 พันบาท หรือ 1.8 แสนบาทต่อเดือน ซึ่ง พม.ได้ช่วยค่าอาหารเด็ก 9 คน เดือนละกว่า 10,000 บาท ซึ่งครูน้อยยังไม่ได้แจ้งความประสงค์จะให้ช่วยเหลือส่วนอื่น ส่วนรายละเอียดเรื่องหนี้สินมีหลายส่วนมาช่วยดูแลคือทางตำรวจ เพราะกระทรวงคงไม่มีอำนาจไปจัดการเรื่องหนี้นอกระบบ แต่จะเน้นช่วยเรื่องดูแลเด็ก อย่างไรก็ตาม เรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายอื่นยังไม่ค่อยจัดทำเป็นระบบ เห็นเพียงระบุการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเด็กแต่ละวันเท่านั้น

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า โดยปกติเมื่อองค์กรเอกชนที่ดูแลเด็กเริ่มมีปัญหาจะต้องขอความช่วยเหลือจาก พม. และโอนความรับผิดชอบในการดูแลเด็กให้พม. ไม่น่าจะไปกู้เงินมาดำเนินการเอง โดยเฉพาะเงินนอกระบบ ส่วนตัวหากเป็นองค์กรของตนก็ไม่คิดจะกู้เงินมาดำเนินการ เพราะการทำงานองค์กรเอกชนต้องไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่จ่ายเอง แต่เป็นการรับบริจาคมาช่วยคนอื่น ถ้าไม่มีเงินจริงๆ ก็ต้องส่งต่อความรับผิดชอบให้หน่วยราชการที่มีงบไม่จำกัดรับช่วงต่อไป

“การกู้เงินนอกระบบนั้นเรื่องนี้มันพูดยาก ไม่รู้จะพูดอย่างไร ผมไม่ได้ว่าครูน้อย แต่การตรวจสอบเงินกู้นอกระบบดูไม่รู้ว่ากู้จริงหรือไม่ ดอกเบี้ยเท่าใด ไม่เหมือนกู้ในระบบที่จะมีหลักฐานการเบิกจ่าย โอนเงินชัดเจน เพราะเงินที่เข้ามาไม่รู้บริจาคหรือยืมมา ถ้าเป็นก้อนใหญ่ๆ อาจเป็นการยืม แต่การกู้เงินมาทำลักษณะองค์กรเอกชนไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถ้าเป็นผมเงินหมดก็จะเจรจากับ พม. ที่ต้องรับช่วงดูแลเด็กตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว หรือหากจำเป็นต้องยืมเงินจริงๆ ก็ไม่กู้เงินนอกระบบ แต่ยืมจากองค์กรเอกชนด้วยกัน” ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กกล่าว

นายสรรพสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตามปกติองค์กรเอกชนจะมีรายได้จากการรับบริจาค และอีกส่วนจากการยื่นขอทุนจากองค์กรต่างประเทศ แต่ประเด็นเด็กถูกทิ้งหรือไร้ที่อยู่อาศัยอาจขอทุนยากกว่าประเด็นค้ามนุษย์ ซึ่งก็ต้องดูขีดความสามารถของตัวเอง เช่น หากมีข้อจำกัดในการรับเด็กได้ 30 คนต่อบ้าน หากมีเด็กเข้ามาอีก ก็ต้องบริหารจัดการ อาจส่งต่อให้ พม. ให้สถานรับเลี้ยงเด็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือให้องค์กรเอกชนด้วยกันช่วยดูแล ต้องใช้วิธีการประสานงานและส่งต่อในการทำงานด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น