“ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์” ผอ.สมศ.ถอดด้าม โชว์วิสัยทัศน์ระบุ ภาพรวมการศึกษาไทยพัฒนาขึ้น แย้มควรมีระบบซ้ำชั้น เด็กเก่งจะตั้งใจเรียน เป็นเด็กฉลาด ครูควรใฝ่รู้สิ่งใหม่ๆ สอนลูกศิษย์ ควรมีระบบคัดกรองเข้ามหาวิทยาลัย เช็คคุณภาพบัณฑิตก่อนสู่ตลาดแรงงาน
วันนี้ (1 ก.พ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แถลงข่าวเปิดตัว ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อย่างเป็นทางการ ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการถามเสมอว่าคุณภาพเยาวชนไทยดีกว่าในอดีตหรือไม่ ต้องบอกว่าในบางมิติถือว่ามีการพัฒนาดีขึ้น เช่น เทคโนโลยี ส่วนเรื่องความอดทนการต่อสู้ชีวิต หรือ วัคซีนชีวิต ยังเป็นคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบ สำหรับเรื่องการเรียนการสอนถือว่าพัฒนาขึ้นทั้งระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในขณะที่พัฒนาไปนั้น ยังมีบางจุดที่จะต้องพิจารณาทบทวน หรือปรับปรุงต่อไป เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับการนำหน่วยกิตเข้ามาใช้นั้น ควรมีการระบบซ้ำชั้นที่เข้มข้นและแข็งแรงมากกว่านี้หรือไม่ เมื่อเรียนจบ ม.3 การส่งเสริมที่จะเรียนต่อ ควรมี 2 ทางให้ชัดเจน คือสายสามัญ กับอาชีวะ ซึ่งปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่มุ่งเรียนสายสามัญเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย ขณะที่เด็กเลือกเรียนสายอาชีพน้อย ทั้งที่เป็นสายที่ขาดแคลน ตรงจุดนี้อาจารย์แนะแนวควรมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ทัศนคติที่ถูกต้องในการเลือกเรียนแก่เยาวชนและผู้ปกครอง
ส่วนของอุดมศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน ปริมาณที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่เยาวชนน้อยลง ดังนั้น ระบบแอดมิชชันควรเป็นระบบคัดกรองเข้าสู่อุดมศึกษา แล้วจะมีระบบอะไรหรือไม่ที่จะคัดกรองบัณฑิตก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่จะต้องลุกขึ้นพัฒนาต่อไป
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวถึงมุมมองคุณภาพในฐานะ ผอ.สมศ.ว่า เห็นว่าคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทุกคนถ้าดำรงตนอย่างมีคุณภาพ ขยันตั้งใจเรียน ใฝ่รู้ ท้ายที่สุดก็จะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพได้ ขณะเดียวกัน ครู อาจารย์ ทุกท่านทุ่มเทในการสอน หาความรู้ใหม่ๆ มาให้แก่ลูกศิษย์ ก็จะเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพ ส่วนผู้บริหาร ต้องมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล จากหน่วยย่อยที่มีคุณภาพก็ไปสู่หน่วยใหญ่ที่มีคุณภาพ ดังนั้น จะขยับเรื่องคุณภาพเป็นองค์รวมได้ทั้งประเทศ
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ในการขับบเคลื่อนของ สมศ. นั้น ส่วนดัชนีบ่งชี้ พัฒนาไปสู่คุณภาพมากขึ้น คือดูผลเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันทำอย่างไรดัชนีบ่งชี้เป็นเชิงประจักษ์มากขึ้น เพื่อลดภาระเรื่องงานเอกสาร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการประเมินออกมาแล้ว บางคนบอกไม่น่าเชื่อถือว่า ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ต้องยึดมั่นตัวเลข เพราะว่าเป็นวิทยาศาสตร์ หากตัวเลขสูงก็ถือว่ามีคุณภาพ ขณะเดียวกัน บางกรณีตัวเลขที่สูงก็ไม่ได้ชี้หรือชี้พลาดก็ได้ เคยยกตัวอย่างในหลายกรณี เมื่อให้คะแนนส่วนย่อย พอมารวมเป็นส่วนใหญ่แล้ว อาจไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดต้องมีการประเมิน
“เหมือนกับประกวดนางสาวไทย หากให้คะแนน ตา หู จมูก ปาก พอรวมกันแล้วอาจไม่สวยที่สุดก็ได้ ท้ายที่สุดน่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ มาดู มาทบทวนผลคะแนนเหล่านั้นอีกครั้ง”
ถามว่าการให้เด็กตกซ้ำชั้นแล้วเป็นปมด้อย ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ตนคิดว่าควรมี 2 ด้าน ให้รางวัล และ ลงโทษ ถ้าหากไม่มีการตกซ้ำชั้น เด็กที่ฉลาดจะไม่ตั้งใจเรียน จากเด็กที่ฉลาดในวันนี้กลายเป็นเด็กที่ไม่ฉลาดในวันหน้า
จากนั้น ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า การนำโอเน็ตทดสอบความรู้ความสามารถของเด็ก แต่จะนำเป็น เอ็กซิท เอ็กแซม ได้หรือไม่ ต้องให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาพิจารณา จริงๆ ไม่ใช่ง่าย เนื่องจากโอเน็ต สร้างขึ้นมาไม่ใช่เป็นเอ็กซิท เอ็กแซม แต่สร้างขึ้นมาเพื่อเทียบเคียง จีเพ็ค ดังนั้น โรงเรียนแห่งใด สอบได้โอเน็ตสูง แต่จีเพ็ค ต่ำ แสดงความโรงเรียนแห่งนั้น กดคะแนน ในทางกลับกันจีแพ็คสูง โอเน็ตต่ำ แสดงว่าโรงเรียนแห่งนั้นปลอดเกรดเกินไป เพราะฉะนั้น ค่าโอเน็ต ยกระดับพัฒนาโรงเรียน ทั้งนี้ทั้งนี้ โรงเรียนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการนำคะแนน 2 ตัวนี้ ไปเทียบเคียงเพื่อพัฒนาโรงเรียน พัฒนาครู อาจารย์ ตลอดจนระบบการเรียนการสอนต่อไป