มศว เลี่ยงเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ แห่งแรกของประเทศ แทนหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ที่ถูกแรงต้าน แพทยสภาเผยควบคุมผลิตแค่ปีละ 20 คน รับเฉพาะสัญชาติไทย เรียนจบต้องใช้ทุน 3 ปี ชี้หมอไทยใช้ภาษาอังกฤษแย่ ส่วนใหญ่เห็นฝรั่งแล้วเดินหนี ด้านคณบดีแพทยฯ มศว ยันหลักสูตรแพทย์นานาชาติสำคัญ ลั่นปี 54 มหาวิทยาลัยแพทย์ชื่อดัง เตรียมดันหลักสูตรนานาชาติแน่
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาอนุมัติหลักการหลักสูตรแพทยศาสตร์ (English program) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยทางมหาวิทยายินยอบปรับหลักสูตรจากเดิมที่ใช้ชื่อว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งแพทยสภารับได้แต่หากเป็นหลักสูตรนานาชาติที่มีแรงต้านมาก โดยหลักการไม่ผ่านการอนุมัติอยู่แล้ว ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้รับเฉพาะนักเรียนไทย ผู้ที่ถือสัญชาติไทย เท่านั้น และต้องชดใช้ทุนรัฐบาลเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่แตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตร์ แต่จะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับเด็กนักเรียนที่ศึกษาจบจากโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียน 2 ภาษา ให้มีโอกาสเท่าเทียมในการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเด็กกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอแต่ไม่สามารถสอบเข้าในระบบปกติได้เนื่องจากติดขัดด้านภาษา ทำให้พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ส่งลูกไปเรียนต่อด้านการแพทย์ในต่างประเทศส่งผลให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศปีละหลาย 10 ล้านบาท อีกทั้งไม่กลับมาทำงานในประเทศไทยอีกด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แพทยสภากำหนดให้สามารถผลิตแพทย์ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษปีละ 20 คน หรือประมาณ 1% ของแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี สำหรับมาตรฐานของแพทยศาสตร์บัณฑิตที่จบในหลักสูตรนี้ ต้องไม่แตกต่างจากหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ และหากจะประกอบอาชีพเวชกรรมต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะเช่นเดียวกัน
“ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของแพทย์ไทยนับวันมีแต่แย่ลง จบมาแล้วภาษาอังกฤษไม่ดีก็มีมาก โดยเฉพาะทักษะในการพูด ซึ่งส่วนใหญ่เห็นฝรั่งแล้วมักเดินหนี แต่หากมีการผลิตแพทย์ที่สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วจะเป็นประโยชน์ในระดับนานาชาติ เนื่องจากการแพทย์ในยุคปัจจุบันต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างมาก เช่น การประชุมแพทยศาสตร์นานาชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การสื่อสารกับผู้ป่วยจำเป็นต้องสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยเท่านั้น เพราะขนาดพูดภาษาไทยก็เกิดปัญหาการฟ้องร้องเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งแพทยสภากำหนดให้การสอบใบประกอบโรคศิลปะต้องใช้ภาษาไทยเท่านั้น”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนในอนาคตมีความจำเป็นต้องมีหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประเมินว่ามีประโยชน์ต่อสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากสามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ อนาคตก็อาจจะมีหลักสูตรลักษณะนี้ก็เป็นได้ ส่วนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หลังคณะกรรมการแพทยสภารับหลักการแล้วจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทยสภาเพื่อรับรองมติที่ประชุมช่วงต้นเดือนก.พ.นี้
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า แพทยสภาอาจได้รับแรงกดดันทำให้ไม่สามารถรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติได้ แต่เปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรนี้ โดยเจตนารมณ์เดิมตั้งใจให้เป็นการเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ลาว พม่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จะช่วยเปิดโอกาสการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยไม่พึงงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งไทยมีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และสนใจร่วมโครงการความร่วมือกับมหาวิทยาลัยน๊อตติ้งแฮมและ มหาวิทยาลัยเซ้าท์ฟลอริดา เพื่อสร้างคนไทยให้เป็นผู้นำในด้านการแพทย์ในระดับสากลเช่นเดียวกันกับที่มาเลเซีย สิงคโปร์อินโดนีเซียและจีน ที่เริ่มเปิดรับนักศึกษาเรียนวิชาแพทยศาสตร์กันแล้วในปัจจุบัน
“หลักสูตรนานาชาติมีการเปิดทุกสาขาวิชาแต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใด หลักสูตรแพทย์ทำไมเปิดไม่ได้ ทำไมต้องกีดกันอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีการจำกัดหรือห้ามไม่ให้คนไทย หรือ ชาติไหนเรียนและก็ต้องใช้ผู้ป่วย ทรัพยากรของในประเทศเหมือนกัน” ศ.นพ.สมเกียรติกล่าว
ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำหลักสูตรซึ่งผ่านการอนุมัติในหลักกการจากแพทยสภาแล้ว นำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาเพื่อพิจารณาก่อนจะเปิดรับสมัครในปีการศึกษา 2553 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยน๊อตติ้งแฮมและ มหาวิทยาลัยเซ้าท์ฟลอริดาได้ส่งหนังสือยืนยันชัดเจนว่ามีความพร้อมอย่างเตมที่ ส่วนกรณีที่อาจารย์แพทย์ของมศว 7 ราย คัดค้านไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ถือเป็นความคิดเห็นที่ต่างกันเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่า ในปี 2554 มหาวิทยาลัยแพทย์หลายแห่ง เช่น มหาวิทยาเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์ และศิริราช รวมถึงมหาวิทยาเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ จะร่วมกันออกมาผลักดันให้เกิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติอย่างแน่นอน