สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทรงชื่นชมยกย่อง 3 ผู้ได้รับรางวัล “ศ.แอน มิลส์” แนะไทยทำ “เมดิคอลฮับ” ต้องระมัดระวัง ส่งผลต่อระบบรักษาพยาบาลโดยรวม“มีชัย” สานต่อพระปณิธาณสมเด็จพระเทพฯ ตั้งมูลนิธิพัฒนาเด็กชนบท
เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 27 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จ ฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในเวลา 20.00 น. ที่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลมี 3 ราย จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ ประกอบด้วย 1. สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.แอน มิลส์ ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ด้วยการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก
2.สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100 % ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคเอดส์ลงเป็นอย่างมาก มีการนำไปใช้แพร่หลายทั้งประเทศไทยและต่างชาติ และนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนประเทศไทย จากผลงานการรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย และยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในระดับชาติ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสว่า การพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขนอกจากจะต้องใช้ความรู้จากวิจัยโดยตรงแล้ว ยังต้องใช้ความรู้ในสาขาอื่นๆ มาประกอบส่งเสริมด้วย ซึ่งผู้ที่สามารถนำความรู้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยความเสียสละพากเพียรควรได้รับการยกย่องอย่างสูงยิ่ง และขอชื่นชมยินดีเป็นพิเศษกับผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ ถือเเป็นแบบอย่างอันงดงามในการนำความรู้ความสามารถที่หลากหลายมา
ปรับใช้พัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติตลอดไป
ศ.แอน มิลส์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ที่รางวัลนี้ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธาณรสุขและการคลังสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ส่วนการที่ประเทศไทยมีนโยบายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดำเนินการนโยบายนี้ จะต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากมีการเคลื่อยย้ายทรัพยากรทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการรักษาพยาบาลโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดช่องให้โรงพยาบาลสามารถหาเงินและได้กำไรนั้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการให้บริการของโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องการค้ามากขึ้น อย่างในประเทศอังกฤษที่พัฒนาไปสู่การเป็นเมดิคอลฮับเช่นกัน แต่จะต้องมีการดูแลควบคุมเป็นอย่างดี
นายมีชัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างที่สุด และไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลนี้ ต่อจากนี้คงต้องทำงานให้หนักมาขึ้นซึ่งมีงานอื่นอีกมากโดยเป้าหมายต่อไป คือการทำงานถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการตั้งมูลนิธิพัฒนาเด็กในชนบท โดยเฉพาะด้านการศึกษามีจุดมุ่งหมายให้ได้รับการพัฒนาเก่งกว่าเด็กในเมือง และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นมากกว่าโรงเรียนที่สอนหนังสือแต่สอนการวิชาชีพและทุกอย่างที่มีประโยชน์ต่อชุมชน และตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ด้านนพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติ รวมทั้งแปลกใจที่ได้รับรางวัล ที่ผ่านมาปฏิบัติงานอยู่เบื้องหลัง การได้รับรางวัลทำให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นให้แนวคิดเรื่องโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100 % มีการใช้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศเนื่องจากขณะนี้ปัญหาโรคเอดส์ก็ยังไม่หมดไป