สธ.และมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดรณรงค์รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ฟรี พร้อมแถมเงินค่าเดินทาง 2,000 บาทให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่มารักษา พร้อมทั้งนำเทคนิคการตรวจการทำหน้าที่ของเส้นประสาทแนวใหม่มาใช้ ตั้งเป้า 6 ปีข้างหน้า จะลดผู้พิการรายใหม่ให้น้อยกว่าปี 53 ร้อยละ 50 ล่าสุดปี 2552 ไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่เหลือเพียง 300 ราย
วันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงข่าว โครงการรณรงค์รักษาและลดความพิการผู้ป่วยโรคเรื้อน สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของประเทศไทยเป็นโครงการพระราชดำริลำดับที่ 2 เพื่อควบคุมโรคเรื้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ
นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนตามแนวพระราชดำริตั้งแต่ปี 2501 จนสามารถกำจัดโรคเรื้อนไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยตั้งแต่ปี 2537 เร็วกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 6 ปี เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งเป้าในปี 2558 จะลดจำนวนคนพิการโรคเรื้อนรายใหม่ให้เหลือครึ่งหนึ่งของที่พบในปี 2553 นี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ร้อยละ 35 มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และประชาชนไทย ในการนี้ ยังได้ปรับโครงสร้างหน่วยงาน โดยรวมกองโรคเรื้อน และโรงพยาบาลพระประแดง เป็นสถาบันราชประชาสมาสัย มีฐานะเทียบเท่าสำนัก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้วิชาการด้านโรคเรื้อนเป็นการเฉพาะ
การควบคุมโรคเรื้อนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ได้ผลน่าพอใจ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงจากที่เคยสุ่มสำรวจในปี 2498 ว่ามีประมาณ 140,000 ราย เหลือเพียง 300 คน ในปี 2552 ในจำนวนนี้มีความพิการ 41 คน และขึ้นทะเบียนรักษา 762 คน ซึ่ง 1 ใน 4 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลสำเร็จเกิดจากการเร่งค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ให้การรักษาเร็วขึ้นตั้งแต่เริ่มเป็น ความพิการมีน้อย โดยขณะนี้ใช้สูตรยาใหม่ เป็นยาผสม 3 ชนิด ได้แก่ แดฟโซน (Dapsone) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และโคลฟาซิมีน (Clofazimine) แทนการใช้ยาแดฟโซนชนิดเดียว ลดระยะเวลารักษาจากเดิม 3-6 ปี เหลือเพียง 6 เดือน-2 ปี ผู้ป่วยรักษาอยู่ที่บ้านกับครอบครัวได้ ไม่ต้องเข้าสถานพยาบาลหรือนิคมโรคเรื้อน ทำให้ประชาชนเข้าใจโรคนี้ดีขึ้น รังเกียจน้อยลง และผู้ป่วยอยู่ในชุมชนได้
"ในปี 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุข เร่งค้นหาผู้ที่มีอาการโรคเรื้อนในหมู่บ้าน ใน 45 จังหวัดที่ยังพบผู้ป่วยใหม่ในรอบ 5 ปี ได้แก่ ผู้ที่มีอาการน่าสงสัย คือผิวหนังเป็นวงด่างขาว เป็นปื้น แผ่น ผื่น มีตุ่มนูนแดงหนา ไม่คัน ชา หยิกไม่เจ็บ ให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว รักษาฟรีจนหายขาด ป้องกันความพิการ เพื่อร่วมกันกำจัดโรคเรื้อนให้สำเร็จอย่างยั่งยืนตามพระปณิธานถวายเป็นพระราชกุศล" นพ.ไพจิตร์กล่าว
ด้านท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารและชื่อสถาบันราชประชาสมาสัย ซึ่งมีความหมายว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนย่อมพึ่งพากันและกัน พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนที่เหลือจากการก่อสร้าง จัดตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ร่วมกันพัฒนาศึกษาวิจัยการดูแลรักษา และการสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมทำให้งานโรคเรื้อนบรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคเรื้อนตามพระราชปณิธาน และในโอกาส 50 ปีของการดำเนินงานตามแนวทางราชประชาสมาสัยที่ได้รับพระราชทาน มูลนิธิ ฯ และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานราชประชาสมาสัย ๕๐ ปีแห่งการสนองพระราชปณิธาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคเรื้อน และผลสำเร็จของโครงการฯ ในวันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2553 ที่ห้างโลตัส ศรีนครินทร์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่เวลา 11.00 - 20.00 น.
ด้านนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเรื้อน เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโครแบคทีเรียม เลปเปร (Mycobacterium leprae) เชื้อจะเข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย และเยื่อบุท่อทางเดินหายใจส่วนบน หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะทำให้พิการถาวร ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าติดแข็ง หงิกงอ กุดด้วน ปากเบี้ยว ตาหลับไม่สนิท สายตาพร่ามัว และบอดได้ แต่หากได้รับการรักษาเร็วตั้งแต่เริ่มแรก จะหายขาด และไม่พิการ การรณรงค์ในปีนี้จะขอความร่วมมืออสม. องค์ท้องถิ่น แกนนำชุมชน และอาสาสมัครต่างๆ ช่วยกันค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ที่ยังไม่เคยรักษา โดย โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัย ฯ ได้เพิ่มแรงจูงใจ สนับสนุนค่าพาหนะ 2,000 บาท โดยผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาเองจะได้รับ 1,000 บาท และรับอีก 1,000 บาทที่เหลือเมื่อกินยาครบจนหายขาด หากมีผู้พามาส่งจะให้คนนำส่ง 1,000 บาท ให้ผู้ป่วย 500 บาทและอีก 500 บาทเมื่อกินยาครบ
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า โมโนฟิลาเม้นท์ (Monofilament) ลักษณะเป็นเส้นเอ็นมี 5 ขนาด มาใช้ทดสอบอาการชาซึ่งเป็นสัญญาณของความพิการ จากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของเส้นประสาทกับผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ทุกราย เพื่อให้ยารักษาได้อย่างทันท่วงที ลดการทำลายประสาท ป้องกันความพิการถาวร ซึ่งขณะนี้พบในผู้ป่วยรายใหม่ ร้อยละ 14 นอกจากนี้ จะทำการสำรวจผู้ป่วยโรคเรื้อนทั้งรายเก่าและใหม่ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือทุกด้านทั้งร่างกาย เศรษฐกิจ และสังคม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ด้านนพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้ 45 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 5 ปี จัดอบรมความรู้เรื่องโรคเรื้อนให้แก่ อสม. เพื่อออกค้นหาผู้ป่วยในชุมชน โดยประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล แกนนำชุมชน และช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามการกินยาของผู้ป่วยให้ครบจนหายขาด และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน และเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง