xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-ตร.จับมือวางแผนบังคับใช้กฎหมายควบคุมเหล้าเข้ม นำร่องกทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.-กทม.-ตำรวจร่วมวางแผนการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเหล้า เริ่มนำร่องเขต กทม. เชื่อทำงานเชิงรุก ออกตรวจ ลดการละเมิดกฎหมายได้ หลังพบปี 2552 เรื่องร้องเรียนเพียบ แถมพลิกแผลงรูปแบบการทำผิดตลอดเวลา

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและ พล.ต.ต.ปรีชา ลิ้มปโอวาท ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กทม. ผู้อำนวยการเขต 50 เขต และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกันการแถลงข่าว การหารือบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเขตกรุงเทพมหานคร

โดยนพ.มานิต กล่าวว่า พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นสิ่งที่ประชาชนและผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ และให้เคารพ ร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะหากลดปริมาณการดื่มก็จะทำให้ปัญหาลดลง ซึ่งการประชุมหารือร่วมกันครั้งนี้ จะหามาตรการที่จะให้มีการปฏิบัติบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“พื้นที่กรุงเทพหมานคร เป็นพื้นที่นำร่องซึ่งหลายฝ่ายให้การสนับสนุนเห็นด้วยเช่นแกนนำเด็กและเยาวชนจาก 10 เขต 50 ชุมชนใน กทม. กว่า 400 คน เรียกร้องต่อผู้ว่าฯ กทม. ให้คุมเข้มมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดภัย เป็นมหานครที่น่าอยู่ ปราศจากการมอมเมาด้วยป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งปลอดมหัตภัยร้ายจากคนเมาขาดสติ เป็นพื้นที่นำร่องก่อนขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ”นพ.มานิต กล่าว

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะมีการอบรมข้าราชการของสำนักเขต กทม.ที่ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายฯ ทั้ง 50 เขต จำนวน 5 รุ่น รวม 250 คน เพื่อเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละเขต เริ่มตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงสามารถออกตรวจการกระทำผิด โดยเป็นไปตามกฎหมาย และรวบรวมหลักฐาน เอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ไม่มีหน้าที่การจับปรับ แต่หากออกปฏิบัติงานพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะถือเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า

นพ.สมาน กล่าวว่า จากการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปี 2552 ตั้งแต่เดือนม.ค.- ธ.ค. 2552 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุราจำนวน 482 ครั้ง บุหรี่ 365 ครั้ง ทั้งสองเรื่อง 5 ครั้ง รวม 852 ครั้ง การเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายโดยใช้เทคนิคการสืบสวนพบการกระทำผิดจำนวน 250 ราย ประชาสัมพันธ์ข้อมูลกฎหมายให้ผู้ประกอบการ 424 ราย ตรวจสอบซ้ำ 106 ราย จัดรณรงค์นิทรรศการข้อกฎหมาย 1,062 ราย ตรวจสอบการทำผิดกฎหมาย 236 ราย จากการเฝ้าระวังทางสื่อ พบ หนังสือพิมพ์ทำผิด 2,308 ครั้ง นิตรสาร 1,179 ครั้ง อินเตอร์เน็ต 5,729 ครั้ง

“รูปแบบการกระทำผิดพบว่ามีการพลิกแพลงตลอดเวลาการทำงานเพื่อทำความเข้าใจผู้ประกอบการบางประเภทก็จะเข้าใจง่าย เช่นร้านอาหาร เมื่อเข้าไปแนะนำก็ยอมรับและปรับปรุง แต่ร้านประเภทผับ บาร์จะพบการกระทำผิดมากกว่า บางร้านพบถึง 50 จุด ซึ่งการทำงานต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียกมาทำความเข้าใจพร้อมกันและทำหนังสือแนะนำให้ ในอนาคตนอกจากเจ้าพนักงานรักษากฎหมายที่ผ่านการอบรมแล้ว อาจจะมีอาสาสมัครภาคประชาชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยเฝ้าระวังด้วย”นพ.สมาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น