สธ.สรุปผลตรวจน้ำหมักป้าเช็ง มหาบำบัดพบแบคทีเรียคลอสทรีเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ ชนิดที่ห้ามปนเปื้อนโดยเด็ดขาด กินท้องเสีย อาเจียน มีความเป็นกรดสูง ส่วนเจียระไนเพชรปนเปื้อนแบคทีเรีย 2 ชนิด ทั้งคลอสสทรีเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และเชื้อบาซิลลัส พูมิลุส แถมมีเชื้อรา ผิดเกณฑ์ยาหยอดตา ติดเชื้อถึงขั้นตาบอดได้ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาให้ดูอย่างมีวิจารณญาณ
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบน้ำหมักชีวภาพ ทั้งน้ำมหาบำบัดและน้ำเจียระไนเพชรของ น.ส.ศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือป้าเช็ง ว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า “น้ำมหาบำบัด” มีค่าความเป็นกรดสูงมาก ไม่พบยาทั้งแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรที่มีผลต่อการรักษา แต่พบแบคทีเรียที่เป็นอันตราย คือ คลอสทรีเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) ถ้ารับประทานจะส่งผลให้เกิดอาหารคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย คล้ายกับอาหารเป็นพิษภายใน 48 ชั่วโมง หากมีบาดแผลจะทำให้แผลเน่า ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานกรณีเป็นยาสมุนไพร จะต้องไม่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะแบคทีเรียบางชนิดที่กำหนดห้ามปนเปื้อนแม้แต่นิดเดียว โดยแบคทีเรียคลอสทรีเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ เป็นชนิดที่ห้ามปนเปื้อนโดยเด็ดขาด
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วน “น้ำเจียระไนเพชร” พบว่า มีค่าความเป็นกรดสูงเกินที่ใช้หยอดตาได้และสูงเกินที่จะอนุญาตตามกฎหมาย โดยมีค่าพีเอช 3.15 ไม่พบตัวยาที่มีผลต่อการรักษาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ที่สำคัญ พบแบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ คลอสทรีเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และบาซิลลัส พูมิลุส (Bacillus pumilus) ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ พบเชื้อราปนเปื้อน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานของยาหยอดตา ต้องปลอดเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อรา 100% ค่าความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมต้องมีค่าพีเอช 5.5-7.6 และมีตัวยาที่มีประสิทธิภาพต่อการรักษาและไม่เป็นอันตราย
“หากนำยานี้ไปใช้หยอดตาเสมือนกับการนำน้ำกรดหรือน้ำส้มสายชูที่มีเชื้อโรคและเชื้อราไปใช้หยอดตา อาจจะมีผลกระทบต่อกระจกตา ถ้าตามีแผลอยู่ก่อนแล้ว อาจติดเชื้อรุนแรงและมีปัญหากับตาระดับรุนแรงจนอาจตาบอดได้ ซึ่ง อย.ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบแล้วและจะนำส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ข้อหาที่ สธ.ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.2 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ยาพ.ศ.2530 ในฐานการผลิตและจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตและโฆษณาเกินจริง และ 2.พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ฐานประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต และจัดตั้งสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า หากมีผู้ร้องเรียนเกิน 10 ราย อาจแจ้งข้อหาเพิ่มเติม เช่น ฉ้อโกงประชาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่มีโทรศัพท์ข่มขู่เจ้าหน้าที่ของ สธ. มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีใครกลัว ทุกคนทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใคร
“ในการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาต้องเสพโฆษณาสินค้าแต่ละชนิดทุกรูปแบบ อย่างมีวิจารณญาณญาณและไม่หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ ซึ่งกรณีป้าเช็งเป็นตัวอย่างที่ช่วยให้คนไทยตระหนักและระวังในการเข้าไปบริโภคสินค้า สำหรับการป้องกันเพื่อให้เกิดป้าเช็ง 2 ประชาชนต้องเข้าใจว่าน้ำเหล่านี้ไม่มีสรรพคุณทางยา โดยหลักทางการแพทย์ไม่มีผลในการรักษาแต่จะมีโรคตามมา ส่วนในจังหวัดอื่นที่เริ่มมีการทำน้ำในลักษณธนี้ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังและชี้แจงประชาชน” นายจุรินทร์กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีผู้นำสูตรน้ำหมักชีวภาพของป้าเช็คไปผลิต จะต้องยึดน้ำหมักชีวภาพทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาผลิตซ้ำหรือไม่ ว่า ป้าเช็งทำธุรกิจน้ำหมักชีวภาพมานาน ภายในบ้านมีถังสำหรับหมักน้ำชีวภาพ 500-600 ใบ ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ในการรักษา แต่ส่วนที่ใช้รักษากองควบคุมยาจะต้องเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากสูตรในการผสมเป็นคนละชนิดกัน โดยสูตรที่อ้างนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายและผลิตไปแล้ว