xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลตรวจน้ำหมัก “ป้าเช็ง” เป็นกรด ซ้ำเจอแบคทีเรีย ไร้ตัวยารักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข
ผลตรวจเบื้องต้น “น้ำมหาบำบัด-น้ำเจียระไนเพชร” ของ “ป้าเช็ง” มีสภาพเป็นกรด ทำให้ตาแสบร้อน แถมเจอแบคทีเรีย ไม่มีตัวยารักษาโรค คาดรู้ผลชัดเจน 1-2 วันนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงผลการตรวจวิเคราะห์น้ำหมักชีวภาพ “ป้าเช็ง” ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมี น.ส.ศรวรรณ ศิริสุนทรินท์ อายุ 72 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ ว่าขณะนี้ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าน้ำมหาบำบัดราคาขวดละ 1,000 บาท อ้างรักษาได้สารพัดโรค และน้ำเจียระไนเพชร ราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งใช้เป็นยาหยอดตานั้น ทั้ง 2 ส่วนมีสภาพเป็นกรด หากนำไปหยอดตาจะส่งผลกระทบให้เกิดอาการแสบร้อน หากเป็นกรดที่มีความรุนแรงอาจทำให้เลนส์ตาได้รับผลกระทบ นอกจากนี้พบเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนทั้ง 2 ส่วน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดไหน จำเป็นต้องใช้เวลาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องนำไปแบคทีเรียไปเพาะเชื้อและจะทราบผลที่ชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้

“ยาหยอดตามีแบคทีเรียก็ไม่ได้อยู่แล้ว แต่จากการตรวจสอบยังพบว่า ไม่มีตัวยาปฏิชีวนะ และยาเพนนิโซโลน ซึ่งการไม่พบตัวยาสามารถสันนิษฐานได้ว่า อาจจะไม่สามารถใช้รักษาโรคอะไรได้ มีการสั่งระงับไม่ให้ดำเนินการใดๆ อย่างสิ้นเชิง รวมทั้งสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และเน้นการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่หลงเชื่อผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายไม่ถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดควบคู่กัน” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาป้าเช็งเป็นผู้ผลิต จำหน่ายและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต แลโฆษณาเกินจริง แต่หากยังไม่ยุติการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ถือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องพิจารณาดำเนินดคีข้อกล่าวอื่นๆ ต่อไป


นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) กล่าวว่า การพบความเป็นกรดในน้ำผลิตภัณฑ์ของป้าเช็ง ถือว่ามีอันตรายทำให้เกิดการระคายเคือง และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออักเสบได้ เมื่อพบแบคทีเรียอีกยิ่งน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะนำมาอาบ รับประทาน หยอดตาล้วนแต่อันตรายทั้งสิ้น

“ขอให้ผู้บริโภคมีสติในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และตั้งอยู่พื้นฐานความเข้าใจโรคว่าโรคเรื้อรังบางชนิดไม่สามารถรักษาได้ และบางชนิดหากเริ่มรับการรักษาตั้งแต่เบื้องต้นก็มีโอกาสหายสูง ซึ่งการกระทำของผู้ที่ใช้ความเชื่อและความหวังในการหายขาดจากโรคว่า ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวง และทำให้ผู้ป่วยที่หลงเชื่อเสียโอกาสในการรักษา”เลขาธิการ อย.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น