“พรหมสวัสดิ์” อัดเกณฑ์รับ ม.4 สพฐ.ทำเด็กเรียนสายอาชีพหด ไม่ถึงสัดส่วนที่ตั้งไว้ 50:50 สั่งทุกอาชีวะลุยแนะแนวตามโรงเรียน หวั่นเด็กไม่รู้ความถนัดตัวเองเปรียบหลงทาง 3 ปี รับเห็นใจอาชีวะเอกชนยอดลดต่อเนื่อง
นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ประกาศเกณฑ์การรับนักเรียนในระดับชั้น ม.4 ที่กำหนดให้โรงเรียนที่เปิดสอนต่อเนื่องในระดับชั้น ม.1-6 จะต้องรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 โรงเรียนเดิมให้ครบจำนวนที่เปิดรับก่อนนั้น ว่า แนวทางการรับนักเรียนดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับการเปิดรับนักเรียน นักศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เพราะต้องยอมรับว่านักเรียนที่จบ ม.3 หลายคน ที่อาจจะยังเลือกทางเดินให้ตนเองไม่เป็นหรือยังไม่รู้ตัวเองว่ามีความถนัดทางด้านสายอาชีพ เมื่อโรงเรียนเดิมเปิดให้เข้าเรียนต่อในชั้น ม.4 ได้โดยอัตโนมัติ ก็อาจจะเลือกไปเรียนต่อในสายสามัญแทน ซึ่งไม่ตรงกับนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องการเพิ่มสัดส่วนนักเรียนในสายอาชีพและสายสามัญ เป็น 50:50 เพราะต้องยอมรับว่าเด็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมที่ต้องการเรียนไปแล้วได้รับใบปริญญามากกว่าที่จะเรียนตามความถนัด และศักยภาพของตนเองอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ สพฐ.ได้ประกาศนโยบายรับนักเรียนดังกล่าวแล้ว ตนได้สั่งการให้วิทยาลัยการอาชีวศึกษาทุกแห่ง ไปประสานงานกับโรงเรียนเพื่อขอเข้าไปแนะแนวให้เด็กที่สนใจรู้ว่าเรียนสายอาชีพแล้วดีอย่างไร
“จากนี้ไปสถานศึกษาอาชีวะฯ คงต้องมาหารือกันแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะหากเรามีระบบคัดกรองที่ดีให้เด็กได้รู้ตัวเองว่าหากไม่ถนัดทางด้านวิชาการ แต่เก่งด้านปฏิบัติก็ควรมาเรียนในสายอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่โรงเรียนเปิดรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ของตนเองเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ได้โดนอัตโนมัตินั้น เหมือนเป็นการล่อใจให้เด็กเลือกเรียนต่อในชั้นม. 4 - 6 มากกว่า ทั้งที่บางคนไม่ถนัดเรียนไปแล้วก็เหมือนหลงทางเสียเวลาไปอีก 3 ปี หรือหากเรียนไม่ได้ก็ต้องหันกลับมาเรียนสาย ปวช. หรือ ปวส.อยู่ดี ดังนั้นสถานศึกษาอาชีวะฯ จะต้องทำความเข้าใจกับครูแนะแนวในโรงเรียนให้เข้าใจด้วย เพราะการให้คำแนะนำกับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนการเลือกซื้อสินค้า เราไปบังคับให้เด็กซื้อสินค้าของเราไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรปล่อยให้โฆษณาชวนเชื่อมาหลอกเราได้เหมือนกัน” เลขาฯ กอศ. กล่าว
นายพรหมสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนเข้าใจว่าแนวทางของ สพฐ.ก็ต้องการสนองนโยบายนักเรียนได้มีโอกาสเข้าถึงด้านการศึกษา 15 ปี แต่อาจจะขาดประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. และ สอศ.ไป ดังนั้นตนจะได้หาโอกาสหารือร่วมกับ สพฐ. รวมทั้งสถานศึกษาในพื้นที่ทั้ง 2 สังกัดก็ต้องคุยกันด้วย เปิดโอกาสให้สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ได้เข้าไปทำความเข้าใจ ไปชี้แจงให้กับนักเรียนได้รู้ข้อมูล ซึ่งอาจจะไปแนะแนวในจุดใหญ่ๆ เช่น ไปแนะแนวในโรงเรียนประจำตำบล หรือโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วนำนักเรียนจากสถานศึกษาอื่นๆ บริเวณใกล้เคียงมาร่วมรับฟัง เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของตนนอกจากสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายรับนักเรียนของ สพฐ.แล้ว ตนคิดว่าในส่วนของสถานศึกษาอาชีวะเอกชน ก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน เพราะในขณะที่รัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนอาชีวะเอกชน ซึ่งรับนักเรียนได้ไม่เต็มตามจำนวนที่เปิดรับอยู่แล้วในปีการศึกษา 2553 ก็จะยิ่งรับนักเรียนได้ลดลงไปอีกมาก