“พรหมสวัสดิ์” เผยพร้อมปรับสัดส่วนอาชีวะรัฐ เอกชน เป็น 65:35 หนุนเอกชนรับนักเรียนอย่างเต็มที่ ระบุย้ายอาชีวะเอกชน อยู่ในร่ม สอศ. แทน สช. ไม่ยากพร้อมอาแขนรับ แต่ต้องแก้กฎหมาย เตรียมเชิญนายกสมาคมฯ อาชีวะเอกชน ถกจริงจัง
นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ.มีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 50:50 นั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้ให้เป็นจริงได้ ซึ่งสัดส่วนการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนขณะนี้ยังอยู่ที่ประมาณ 80:20 เท่านั้น แต่ตนตั้งเป้าหมายว่าหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการ กอศ.จะต้องเปลี่ยนสัดส่วนในเบื้องต้นให้เป็น 65:35 ให้ได้ และในที่สุดต้องเป็น 50:50 ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนรับนักเรียนได้เต็มที่
แต่ขณะเดียวกันหากยังมีนักเรียนตกค้าง ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐที่ต้องรับเป็นภาระรับเด็กเข้าเรียนต่อไป ทั้งนี้ในหลายประเทศมีการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอาชีวะมากขึ้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนของเอกชนต่อรัฐเป็น 80:20
นายพรหมสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีการย้ายสังกัดโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนให้ไปอยู่ใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นั้น คงต้องมีการปรับแก้กฎหมายทั้งในส่วนของ สอศ. และ สช. ซึ่งตนเชื่อว่าหากทุกฝ่ายพร้อมใจกัน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
แต่สำหรับเรื่องนี้ความเห็นจากโรงเรียนอาชีวะเอกชนยังไม่นิ่ง เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ อย่างไรก็ตาม สอศ.พร้อมให้เอกชนมาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนก็อยู่ภายใต้ สกอ.ทั้งหมด โดยหากปฏิบัติเช่นนี้ได้จะส่งผลให้การเพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนของอาชีวะเอกชนเป็นไปตามเป้าหมาย 50:50 ได้รวดเร็วขึ้น
“ก่อนหน้านี้ที่มีการร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา โดยกำหนดสำนักที่เกี่ยวกับโรงเรียนอาชีวะเอกชนอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย แต่ก็ต้องตัดออกไปก่อน เพราะขณะนั้นยังไม่มีความพร้อม แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างที่โรงเรียนอาชีวะเอกชนยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ภายใต้ สอศ.นั้น ในเร็วๆ นี้จะได้เชิญนายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยมาหารือกันอย่างจริงจังว่า รัฐและเอกชนจะแบ่งสัดส่วนการรับนักเรียนเป็นเท่าใด ซึ่งเมื่อเอกชนกำหนดแล้วว่าจะรับเด็กเท่าใด ก็ต้องพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา ครู และอุปกรณ์” ว่าที่ เลขาธิการ สอศ.กล่าว