“เสียง” เป็นคลื่นหนึ่งที่อยู่รอบๆ กายมนุษย์ อวัยวะที่ใช้รับคลื่นเสียงคือหู และไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอวัยวะชนิดนี้ถือเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่สำคัญไม่แพ้ชิ้นส่วนอื่นๆ หากไม่มีหู เราคงไม่รู้ว่าคนที่พูดกับเรานั้นพูดว่าอะไร ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารใดๆ ที่ส่งมาโดยเสียง และรวมไปถึงไม่สามารถรื่นรมย์กับสำเนียงเสนาะต่างๆ ทั้งเสียงดนตรี และเสียงเพราะๆ อันเกิดจากธรรมชาติอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าหากขาดซึ่งหูไปแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ก็คงจะต้องเผชิญกับความโดดเดียวในโลกอันเงียบงัน
...ฟังดูแล้วช่างน่ากลัวและน่าหงอยเหงาสิ้นดี...
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่องปัจจัยเสี่ยงในการทำลายหูและระบบการได้ยินรวมไปถึงการป้องกันรักษาสุขภาพหูแบบง่ายๆ ว่า ปัจจุบันชีวิตที่เร่งรีบทำให้คนทั่วไปใช้หูอย่างสิ้นเปลือง การใช้รถใช้ถนนที่มีปริมาณรถและการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น การทำงานในพื้นที่เสียงดัง รวมไปถึงการสร้างโลกส่วนตัวด้วยเสียงเพลงหรือการใช้โทรศัพท์ หากไม่ระมัดระวังและลืมตระหนักถึงการป้องกันก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายหูได้
“ทุกวันนี้เสียงดังขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน เสียงรถราที่มีมากขึ้นรวมไปถึงการทำงานในพื้นที่ที่มีเสียงดัง และที่สำคัญในขณะนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและวัยทำงาน การใช้โทรศัพท์มือถือด้วยหูฟังรวมไปถึงการฟังเพลงด้วยเอ็มพีสามหรือไอพอดที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้หูฟังเสียบเข้าไปในรูหูนั้น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง คือไม่ใช่ว่าฟังไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะฟังด้วยเสียงดัง อย่างโทรศัพท์ก็ปรับวอลลุ่มให้ดังๆ ส่วนเพลงนี่ไม่ต้องพูดถึง ฟังกันดังจนบางครั้งคนข้างๆ ยังได้ยินเพลงด้วย อันนี้อันตรายมากครับ”
นพ.สมเกียรติ อธิบายต่อว่า จากการเก็บข้อมูลการได้ยินของเด็กตั้งแต่ 6 ขวบจนไปถึงวัยรุ่นและคนทำงานพบว่ากว่า 70% มีปัญหาทางการได้ยิน และจากการอนุมานเอาด้วยพฤติกรรมหมู่มากของคนวัยนี้ เชื่อว่าปัญหาน่าจะมาจากการใช้หูฟังเพื่อโทรศัพท์และการฟังเพลงเป็นหลัก
“เราอนุมานเอานะครับจากพฤติกรรม เพราะเด็กและคนส่วนใหญ่วัยนี้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการทำงานในที่เสียงดังเพราะวัยยังไม่ถึงช่วงทำงาน ดังนั้นส่วนมากแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นการใช้หูฟังโทรศัพท์และฟังเพลง รวมไปถึงการเข้าไปใช้บริการสถานที่ที่เสียงดังๆ เช่นดิสโก้เธค จึงอยากเตือนว่าการฟังเพลงหรือโทรศัพท์นั้นทำได้ แต่ต้องทำด้วยเสียงที่ไม่ดังมากนัก และที่สำคัญคือต้องมีช่วงที่หูได้พักบ้าง และหากจำเป็นต้องไปอยู่ในที่เสียงดัง ก็อย่าอยู่นานๆ”
ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ แนะนำต่อไปอีกว่า ระดับเสียงที่พอเหมาะและไม่ทำลายหูไม่ควรจะเกิน 80 เดซิเบล และไม่ควรจะฟังเสียงระดับนี้ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง และต้องมีเวลาปล่อยให้หูได้พักจากการฟังติดต่อกัน 8 ชั่วโมงอีก 24 ชั่วโมงเพื่อให้ประสาทการได้ยินฟื้นฟูสภาพของตัวมันเอง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาหูฟังเสียบหูและฟังจนหลับไปเลยนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะแม้เราจะหลับแต่คลื่นเสียงที่ออกจากหูฟังกระแทกประสาทหูอยู่ตลอดเวลา ทำให้หูไม่ได้พัก ดังนั้นเมื่อเตรียมตัวนอนหลับไม่ควรเสียบหูฟัง ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดัง ควรใช้เครื่องป้องกันหูหรือเอียปลั๊กเพื่อถนอมหูด้วย แต่หากเราใช้หูแบบสมบุกสมบัน ฟังเพลงดังจนหูตึงหรือหูดับ แม้มันจะไม่เจ็บไม่ปวด แต่มันกระทบชีวิตเราแน่นอน โรคหูดับรักษาไม่หาย หากเป็นก็เป็นไปตลอดชีวิต เสียบุคลิก เสียความสามารถทางการได้ยิน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ส่งผลกระทบต่อภาวะอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ความสุขสนุกสะใจในการฟังเพลงดังๆ แค่ชั่วคราวไม่คุ้มเลยกับการที่เราต้องเสียประสาททางการได้ยินไป” นพ.สมเกียรติกล่าวเตือน