xs
xsm
sm
md
lg

พบมรดกโลกอยุธยาปัญหาอื้อ รัฐ-เอกชนจ้องเขมือบเค้ก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มรดกโลกอยุธยา (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
ถกเครียด!! คกก.อนุรักษ์ฯอยุธยาพบปัญหาอื้อ หน่วยราชการ –เอกชน ใช้ช่องโหว่กฎหมายรุมยำเมืองมรดกโลก ตัดถนนใหม่ -สร้างตึกบังมรดกโลก “สุเทพ” ห่วงถูกถอดถอน เร่งกรมศิลป์ จัดทำแผนของบปี 54 พื้นฟูพื้นที่ แนะให้ประกาศอยุธยาเป็นพื้นที่พิเศษตามรอยเกาะรัตนโกสินทร์

วันนี้(13 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้แทนหน่วยงานองค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมกว่า 40 คน

โดยนายธีระ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 3 ส่วน ดังนี้ 1..การพัฒนาเมืองเน้นความสมัยใหม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าและความดั้งเดิมของอยุธยามรดกโลก 2.การขาดงบประมาณและการบริหารจัดการ และ3.การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและใช้ช่องว่างของกฎหมายปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ส่วนปัญหาที่ผู้ร่วมประชุมเป็นห่วงและมีมติว่าควรทำการแก้ไขโดยเร่งด่วน คือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ปลูกสร้างอาคารที่ส่งผลต่อสภาพภูมิทัศน์ รุกล้ำแหล่งโบราณสถาน สร้างถนน ซึ่งมีทั้งปรับปรุงถนนเดิมและสร้างใหม่ ทั้งที่บางแห่งไม่ควรให้มีการขยายเพิ่มเติม และมีบางเส้นทางควรยกเลิกและรื้อถอนออกตามแผนแม่บท

“ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศิลปากร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงบประมาณประจำปี 2554 เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ได้เป็นห่วงปัญหาอยุธยามากเกรงว่า จะถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีการเสนอให้มีการประกาศให้พื้นที่เกาะอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่พิเศษ เหมือนเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ดูแล ซึ่งในเรื่องนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการศึกษาให้รอบคอบอีกครั้ง”รมว.วัฒนธรรม กล่าว

อนึ่ง แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์แลพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาอยุธยาตั้งแต่ปี 2537-2544 ภายใต้งบประมาณ 2,946.78 ล้านบาท แต่ได้รับงบประมาณเพียง 862.73 ล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการอำนวยการฯ ในขณะนั้นไม่ติดตามการทำงานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น