xs
xsm
sm
md
lg

สมาพันธ์รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไปโวยผลสอบ SP2 มีเงื่อนงำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โวยผลสอบไทยเข้มแข็ง ชุด “หมอบรรลุ” มีเงื่อนงำ ตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการฯ ตั้งเป้าสอบเอาผิดผู้บริหารสธ.ยกแผง จงใจเลือกสอบเฉพาะบางพื้นที่ แถมคณะกรรมการบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน จี้นายกฯ ตัดสินใจบนความถูกต้องไม่ใช่ตามแรงกดดัน เตือน “จุรินทร์” ระวังอย่าให้ถูกผีสิง ชี้เหตุสธ.วุ่นวายเพราะมีชมรมสองแพทย์อ้างชนบทอยู่เบื้องหลังป่วน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร รองประธานสมาพันธ์รพศ./รพท. พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ นพ.วัชรพงศ์ แย้มศรี ประชาสัมพันธ์สมาพันธ์ฯ ร่วมกันแถลงข่าว เรื่องงบประมาณไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข

โดยพญ.พจนา กล่าวว่า การที่แพทย์รพศ./รพท. ซึ่งเป็นตัวแทนแพทย์ที่ปฏิบัติงานในรพศ./รพท. 9 พันคน ออกมาชี้แจงครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันรพศ.และรพท.ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ได้รับการสนับสนุนอัตรากำลังและงบประมาณมานานกว่า 20 ปี มีความยากลำบาก ขาดแคลนทั้งเครื่องมือและบุคลากร ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนัก เมื่อรัฐบาลจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งให้ก็คาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงวิกฤติเป็นโอกาส นำงบประมาณไปใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์และก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลแต่กลับถูกนำมาใช้บิดเบือนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม

“หลังจากที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์และทั่วไปเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากวันละ 800 คนเป็น 2,500 คน ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนปัจจุบันดำเนินการผ่าตัดน้อยมากหรือไม่ดำเนินการเลย เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งหรือทำคลอดก็ไม่ทำส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปอย่างเดียว ทำให้ภาระงานยิ่งหนักมากขึ้น แต่งบประมาณส่วนใหญ่ยังถูกทุ่มไปที่โรงพยาบาลชุมชน” พญ.พจนากล่าว

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองประธานสมาพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) จนละเลยส่วนอื่นในระบบไป เมื่อมีโครงการบัตรทองทำให้คนไข้เพิ่มปริมาณขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นจากการรักษาของ รพช.ทำให้แนวโน้มการดำเนินงานเปลี่ยนไป เป็นใช้การส่งต่อเกือบทั้งหมด งานที่เคยทำเช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดคลอด หรือผ่าตัดอื่นๆ ก็ส่งต่อ ขณะที่ห้องผ่าตัดที่ได้รับงบประมาณไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ในปีนี้แพทย์ในระบบรู้สึกดีใจที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้เพื่อใช้พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ แต่กลับพบว่ามีการอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณลง ทั้งที่งบที่รัฐบาลให้เดิมก็น้อยกว่าที่ขออยู่แล้ว ซึ่งพบว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซง งบไทยเข้มแข็งก็ถูกนำไปเล่นเป็นเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยไม่มีการบิดเบือน”พญ.ประชุมพร กล่าว

นพ.วัชรพงศ์ แย้มศรี ประชาสัมพันธ์สมาพันธ์รพศ.รพท. กล่าวว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ คณะกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเคยเสนอแนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ตั้งแพทย์คนหนึ่งเป็นปลัดกระทรวง แต่นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ได้ตั้ง นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัดกระทรวง เนื่องจากต้องการให้รับมือกับไข้หวัด 2009 ซึ่งโครงการไทยเข้มแข็งดำเนินมาตั้งแต่ช่วง นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นปลัดกระทรวง แต่ไม่มีใครติดใจในการดำเนินงาน จนนพ.ไพจิตร์ มาดำรงตำแหน่งก็มีคนออกมาประกาศว่าผิดหวัง และจะตรวจสอบทุจริตทันที่ทั้งที่ยังไม่เริ่มทำงาน

คนกลุ่มนี้หลังจากบีบให้นายวิทยา ลาออก ก็มีความพยายามบีบ นายมานิต และปลัดกระทรวง เพื่อให้คนของตนเข้ามาทำงานเพื่อจะให้ข้าราชการเกิดความเกรงกลัว เมื่อนั้นก็จะสามารถแทรกแซงสั่งการทุกอย่างได้เหมือนในอดีตทำให้กระทรวงถูกครอบงำ ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ ปกติไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลตนเอง แต่จะอยู่ในสธ. ทำหน้าที่เหมืองรองปลัดคนหนึ่ง คอยเป็นผู้กำหนด จำนวนแพทย์ใช้ทุนให้โรงพยาบาลต่างๆ และกำหนดทุนฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลต่างๆ แต่เนื่องจากตนเองไม่ได้เป็นแพทย์เฉพาะทาง จึงไม่เข้าใจความจำเป็นของการทำงานเป็นทีมของแพทย์สาขาต่างๆ เมื่อจัดโควต้าแบบตามใจ แพทย์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องลาออกทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนต่อเนื่อง”นพ.วัชรพงศ์ กล่าว

นพ.วัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า ผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็ง สะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจสถานการณ์ของกระทรวง เพราะกรรมการบางท่านเกษียณอายุราชการมานานกว่า 20 ปี อาจไม่ทราบว่า รพท.ไม่ทำผ่าตัด อัตราครองเตียงต่ำ และมีการส่งต่อเพราะกลัวการฟ้องร้อง หรือไม่ทราบว่ารถพยาบาลที่ราคาต่างกันเพราะอุปกรณ์ช่วยชีวิตภายในรถ หรือเครื่องมือที่คุณภาพดีกว่าอย่างเครื่องตรวจมะเร็งเต้านม ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะใช้พัฒนาบริการ นำคุณภาพบริการที่ดีมาให้ประชาชน เหมือนโทรศัพท์รุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า อีกทั้ง รพศูนย์ราชบุรี และนครปฐม เป็นด่านที่รับผู้ป่วยจากภาคใต้ซึ่งมีระยะทางไกล ไม่มีรพ.ขนาดใหญ่รองรับ และยังเป็นศูนย์ส่งต่อจากกทม.และปริมณฑลด้วย

น่าแปลกใจที่คนเพียง 2 คนสามารถกำหนดทิศทาง หรือล้มรัฐมนตรีได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพราะหมอคนดังกล่าวมีเทวดาคุ้มครองคอยหนุนหลังอยู่ จึงอยากฝากว่าใครทำอะไรต้องระวังจะคืนสนองถึงตัวท่าน ซึ่งอยากฝากรมว.คนใหม่ที่จะดูแลกระทรวงนี้ ว่าให้รักษาและระวังกระทรวงนี้ให้ดี ไม่ให้ถูกผีสิงได้อีก เพราะจะทำให้ถูกควบคุมและจัดการสิ่งต่างๆไว้ทั้งหมด "นพ.วัชรพงศ์ กล่าว

ด้านนพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์รพศ./รพ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณงานของ รพศ. รพท. ยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าหรือประมาณวันละ 2,500 คนต่อวันเหตุจาก รพท.ไม่กล้าทำการผ่าตัด ทำให้ปริมาณงานน้อยลงแต่ใช้การส่งต่อแทน สำหรับการตรวจความผิดปกติโครงการไทยเข้มแข็งก็พบว่า มีการตรวจสอบจริงแต่เลือกตรวจสอบพื้นที่บางพื้นที่ที่จะทำให้เกิดผลเสียกับคนบางคนเป็นพิเศษ เช่น โรงพยาบาลราชบุรี นครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากโทษฐานที่ไม่พอใจในการตั้งคนที่ไม่พอใจมานั่งในตำแหน่งปลัด ซึ่งบุคคลดังกล่าวเรียกว่า ชมรมคนสองคนอ้างแพทยชนบท ที่มีชื่อตัวย่อ ก.และ อ.

“สมาพันธ์ฯ ขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีตัดสินใจด้วยฐานความเข้าใจที่ถูกต้องมิใช่แรงกดดันของคนบางคน และขอเรียกร้องให้ปลัด แต่งตั้งตัวแทนสมาพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบชีวิต ผู้ป่วยตัวจริงเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณในส่วนของ รพศ,รพท. และขอให้ รมว.คนใหม่และ นายมานิต เป็นตัวของตัวเองไม่ปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ภายใต้การครอบงำของบางคน และขอให้มีการตรวจสอบกรณีรถพยาบาล ที่ค้างอยู่และจะหมดอายุความในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่ามีการชี้มูลความผิดแล้ว และมีความผิดเกิดขึ้นอย่างชัดเจน”นพ.ศิริชัย กล่าว

นพ.ศิริชัย กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้ มีการตรวจสอบจริง แต่เลือกตรวจเฉพาะพื้นที่ที่อยากตรวจ พื้นที่ที่ไม่อยากตรวจไม่ตรวจหรือตรวจสอบน้อย หรือทำเป็นลืม ซึ่งส่งผลต่อผลตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมา การเลือกตรวจบางพื้นที่เป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะการตรวจสอบในครั้งนี้ มีเป้าพูดง่ายๆคือสอบให้มีเรื่อง ส่อเจตนาเจาะเฉพาะพื้นที่ให้เกิดผลกระทบ ไม่เช่นนั้นคงไม่เลือกสอบเฉพาะพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชและราชบุรี เช่น กรณียูวีแฟนเลือกตรวจเฉพาะพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่อื่นไม่ตรวจสอบ และสิ่งก่อสร้างก็เลือกตรวจเฉพาะพื้นที่ จ.ราชบุรีและนครศรีธรรมราช

ต่อข้อถามถึงกรณีหนึ่งในคณะกรรมการฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อในการแต่งตั้งปลัดสธ.เป็นคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ด้วย นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ปกติถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ควรเป็นและไม่ควรตั้ง เพราะไม่มีความเหมาะสม มีส่วนได้ส่วนเสียในการตรวจสอบ ถ้าเป็นตนตนจะขอลาออกและไม่เป็นคณะกรรมการตั้งแต่แรกและให้เหตุผลไปตามตรงว่าตนมีประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้ ขอไม่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ

ประธานคณะกรรมการตรวจสอบอายุ 80 ปี ท่านเขียนรายงานผลการตรวจสอบเองทั้งหมดที่มีจำนวนเป็นพันๆหน้าเองหรือไม่ แล้วใครเขียน ที่น่าแปลกคือผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเนื้อหาเป็นอีกอย่างแต่กลับสรุปผลเป็นอีกอย่าง เหมือนสอบนาย ก ข ค แต่กลับลงโทษนาย ง การทำแบบนี้เท่ากับส่อเจตนาของคณะกรรมการ เช่น เนื้อหาระบุว่านพ.ไพจิตร์ ไม่เกี่ยว ไม่มีอำนาจและสรุปผลว่านพ.ไพจิตร์ผิด การทำแบบนี้เป็นการจงใจถล่มเพื่อฮั้วอยากให้มีการโยกงบประมาณและเปลี่ยนผู้บริหารกระทรวงใหม่ หากมีการย้ายปลัดสธ.พ้นตำแหน่ง ก็เป็นชะตากรรมของบ้านเมือง ที่จะกลับสู่ยุค 2499 อันธพาลครองเมืองเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้”นพ.ศิริชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น