xs
xsm
sm
md
lg

ดารารัวหมัด! อันธพาลนอกจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปล่อย ‘ฮุกซ้าย’ เข้ากกหู ก่อนหมัดขวารัวตามไม่ยั้ง เมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่ออกอาวุธสวนกลับ ฝ่ายรุกได้ที ปล่อยหมัดหนัก ไล่ต้อนจนมุม...

เปล่า ไม่ใช่เสียงพากย์มวยลอยแว่วมาจากเวทีมวยราชดำเนิน หรือลุมพินี แต่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นท่ามกลางสายตาสาธารณชนซึ่งจับจ้องอยู่ไม่ต่ำกว่าสิบคู่ ที่ต้องกลายเป็นพยานร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า ‘เมธี อมรวุฒิกุล’ ดาราดาวร้ายจอมบู๊ จะแสดงบทบู๊นอกจอ ให้เห็นกันจะจะ แบบเต็มๆ ตา ด้วยการสวมบทสมาชิกพรรคการเมือง ปล่อยหมัดซัดคนวัย 53 ปี ที่ไม่คิดตอบโต้
 
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งให้ดาราหนุ่มกลายเป็น ‘ดารานักบู๊’ ที่แสดงได้สมบทบาททั้งนอกจอและในจอ เรียกความสนใจจากคนทั้งประเทศได้อย่างชะงัด

เบื้องหลังเหตุการณ์ เมธี อมรวุฒิกุล ดารานักแสดงและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไล่ชก อดิศราช ธรรมพิทักษ์ วัย 53 ปี ผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งซ่อมสุราษฎร์ธานี เขต 1 พรรคเพื่อไทยซึ่งมาทวงเงินค่าสื่อโฆษณาหาเสียงที่พรรคเพื่อ ไทยค้างอยู่ราว 7-8 แสนบาทนั้น คำอธิบายจากคู่กรณีทั้งสองฟากฝ่าย ถูกขยายความผ่านรายการเล่าข่าวอย่างทันท่วงที นับแต่ในยามเย็นของวันที่เกิดเหตุ ต่อเนื่องไปถึงการวิเคราะห์ เชื่อมโยงต่างๆ ถึงความละเอียดซับซ้อนของมูลเหตุที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายกัน ถึงดึกดื่นค่อนคืน กระทั่งเช้าตรู่วันถัดมา

แต่จะว่าไป วงการบันเทิงเมืองไทย ก็ใช่จะมี ‘ฮุกซ้ายเมธี’ เป็นรายแรกและรายเดียวเสียเมื่อไหร่ เพราะในความเป็นจริง ‘ดารานักบู๊’ มีเกลื่อนวงการมานานนมแล้ว

บู๊นอกจอ

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เรื่องข่าวฉาวกับดาราก็เป็นเรื่องคู่กัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีดาราที่อารมณ์ร้อนใช้อารมณ์ชั่ววูบตัดสินปัญหา ทำให้เกิดเรื่องราวชกต่อยกันนับไม่ถ้วน เป็นต้นว่า สมชาย เข็มกลัด ที่ยึดอันดับต้นๆ ของ ทำเนียบพระเอกนักบู๊ เพราะที่ผ่านมามีข่าวทำนองที่ว่าใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา เช่น เมื่อปี 2545 ที่เต๋าชกต่อยกับเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังกลางงานกาชาดด้วยเหตุผลว่า ถูกเรียกด้วยคำหยาบคาย

และเมื่อปี 2551 มีคดีกับ เฉลิมชัย แสงสุวรรณ ที่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายเฉลิมชัย ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ ว่าถูกเต๋าพร้อมพวกรุมทำร้ายกลางสี่แยกไฟแดง ซึ่งวันนั้นเฉลิมชัยอยู่บนรถเก๋ง มาจอดติดไฟแดงจ่อท้ายช็อปเปอร์กลุ่มของเต๋า แต่เมื่อไฟเขียวแล้ว กลุ่มช็อปเปอร์ไม่ยอมออกรถ จึงบีบแตรไล่ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มของเต๋า จึงเป็นเหตุให้เกิดการชกต่อยกัน

ล่าสุดเต๋า ไปก่อเหตุที่ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นการทำร้ายร่างกาย วีระชาติ เด่นศิริกุล เจ้าของร้านชำ วัย 56 ปี สาเหตุเพราะ วีระชาติ ไม่ยอมรับไหว้เต๋าในขณะที่กินบะหมี่อยู่ โดยเต๋าอยู่ในสภาพเมาสุราอย่างหนัก เดินโซเซเข้ามาในร้าน พร้อมทั้งยกมือไหว้ลูกค้าเรียงโต๊ะ ซึ่งทุกคนรับไหว้ตอบ พอมาถึงวีระชาติ เต๋า ก็ยกมือไหว้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เพราะเขากำลังตั้งหน้าตั้งตากินบะหมี่อยู่ ทำให้พระเอกคนดังไม่พอใจ กระชากคอเสื้อวีระชาติให้ลุกขึ้นยืน พร้อมทั้งรัวกำปั้นเข้าใส่ 2 หมัดจนร่วงกองกับพื้น แต่เต๋าก็ยังแทงเข่าใส่หน้าอกเขาเต็มแรงจนจุกเสียด และชกต่อยเข้าที่ใบหน้าอีกหลายครั้ง

พีท ทองเจือ อีกหนึ่งคนที่ดูเป็นดาราเลือดร้อนที่หลายๆคนยังคงจำได้ที่ผ่านมาเขาเคยก่อคดีขับรถไปชนรถเมล์เข้าอย่างจัง แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้ พระเอกนักบู๊เลยแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังชกต่อยกับคนขับรถเมล์

ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย ดารา-นักร้อง ที่เคยต่อย ‘พจน์ อานนท์’ ผู้กำกับชื่อดัง กลางงานศพของ ‘จอห์น ดีแลน’ สาเหตุเพราะโดนแซวว่า “ทำไมเพิ่งเสด็จมา” ทำให้เกิดอารมณ์โมโห คว้าหนังสือพิมพ์ตบหน้า 3 ทีซ้อน ก่อนกระหน่ำชกหน้าแบบไม่ยั้ง แถมแสดงมาดนักเลงใหญ่โชว์ปืนหราขู่และพูดว่า "เดี๋ยวยิง...เลย" และครั้งหนึ่งเคยตบหน้า เสกสรร สุวถาวรสกุล อายุ 30 ปี แฟนเพลงที่เข้ามาขอลายเซ็น

อำพล ลำพูน พระเอก-นักร้อง ก็เคยถูกดำเนินคดี ข้อหาทำร้ายร่างกาย นิพนธ์ วงศ์ศิริ พี่เลี้ยงน้องกาย-นวพล ลำกูน ลูกชายสุดที่รักของ มาช่า วัฒนพานิช ที่สนามบินดอนเมือง สุดท้ายอำพลก็ออกมารับผิด ขอโทษคู่กรณี ส่วนสาเหตุที่ระงับสติอารมณ์ไม่อยู่นั้น เขาอ้างว่า เพราะถูกกีดกันไม่ให้พูดกับน้องกาย

ส่วนเมธี เจ้าของหมัดฉาวรายล่าสุด ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีข่าวทำนองนี้มาก่อน เพราะในอดีต เคยเกิดทะเลาะวิวาทและชกต่อยกับคู่กรณีในผับดัง ‘เดอะคลับ’ ย่านถนนข้าวสาร หลังจากอ้างว่า ถูกตบหัวก่อน จนทนไม่ไหวควงมัดชกต่อยคู่กรณีแต่สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยดีเมื่อเคลียร์กันที่โรงพัก

อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่หยิบยกมานี้ คือยุคสมัยของดารารุ่นใหม่ แต่หากย้อนกลับไป ยุคก่อนหน้านั้น ดารารุ่นเก๋าบางคน ก็เคยสวมบทบู๊ทั้งนอกจอและในจอมาก่อนแล้ว
ดังคำบอกเล่าจากผู้สื่อข่าวบันเทิงรุ่นเก๋าที่คลุกวงใน สนิทสนมกับดาราลายครามมากหน้า เผยว่า “เปี๊ยก-พิศาล อัครเศรณี นั่นแหละ คือ ‘เปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์’ เขาเป็นจิ๊กโก๋ เคยมีเรื่อง มีราวยกพวกตีกันอยู่แถวสิบสามห้าง”

นอกจากผู้กำกับมาดดุแล้ว พระเอกหนังและดาวร้าย อย่าง ‘ชุมพร เทพพิทักษ์’ ‘เกชา เปลี่ยนวิถี’ ‘ฤทธิ์ ลือชา’ ก็เป็นตัวอย่างของดารานักบู๊ที่ ในวัยหนุ่มมักมีเรื่องราวบู๊นอกจอไม่ต่างจากบทบาทที่ได้รับในอาชีพนักแสดง

ส่วนดาวร้ายอมตะหนังบู๊ อย่าง ‘ดามพ์ ดัสกร’ ก็เคยต้องคดีอุกฉกรรจ์และต้องเข้ารับโทษในคุกบางขวางมาแล้วถึง 5 ปี

จากคำบอกเล่าดังกล่าว เมื่อนำมาเปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับยุคสมัยของดาราเลือดร้อนใน ปัจจุบันแล้ว ก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ยุคก่อนหน้านี้ ความบู๊นั้นคล้ายจะเป็นภาพลักษณ์ที่คงไว้เฉพาะดาวร้าย ส่วน ‘พระเอก’ ก็จะรับผิดชอบความรู้สึก ความรักที่แฟนๆ มอบให้ ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ความเป็นสุภาพบุรุษไว้ทั้งนอกจอและในจอ เพื่อไม่ให้แฟนๆ ผิดหวัง ต่างจากทุกวันนี้ ที่ ‘พระเอกตัวจริง’ หายากเข้าไปทุกที

‘นักเลง’ หรือ ‘อันธพาล’ เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน

เอาล่ะ ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่ออยู่ในยุคที่นึกจะซัดกันก็ซัดแบบไม่บันยะบันยังแล้ว ก็ควรที่จะตั้งคำถามสักนิดว่า ซัดแบบไหน จึงคู่ควรกับคำว่า ‘นักเลง’ แบบไหน จึงเป็นได้แค่ ‘อันธพาล’ เพราะไม่ว่าหมัดที่ปล่อยออกมา หน้าแข้งที่เหวี่ยงใส่ หรือฝ่าเท้าที่กระทืบคู่กรณีจะหนักหน่วง รุนแรงสักแค่ไหน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมนัก หากแม่ไม้มวยไทยหรืออาวุธที่ปล่อยออกมานั้น มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อระบายโทสะอย่างไร้เหตุผล

แล้วในการทะเลาะวิวาทจำเป็นต้องมีเหตุผลด้วยหรือ? อาจเป็นที่น่ากังขา แต่นั่นแหละ คือความแตกต่าง คือเส้นแบ่งบางๆ ที่แยกความเป็นอันธพาล กับ นักเลง ให้เคลื่อนออกจากกัน ส่วนนักเลงที่แท้จริงเป็นอย่างไร? ต่างจากอันธพาลยังไงนั้น ‘ปุ๊ กรุงเกษม’ นักเลงร่วมยุคสมัยกับ ‘แดง ไบเล่’ ‘ปุ๊ ระเบิดขวด’ ‘ดำ เอสโซ่’ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ ถึงความเหมือนและความต่างระหว่างอันธพาล กับนักเลง ว่า

“สิ่งที่เหมือนกันทั้งสองอย่างคือ ต้องอาศัยความกล้าเป็นตัวนำ แต่นักเลงค่อนข้างคิดมาก คิดเรื่องชื่อเสียง คิดเรื่องผิด ถูก นั่นคือนักเลง เขามักคิดย้อนไปย้อนมา คิดทั้งมุมไปมุมกลับ ถ้าอันธพาลจะคิดถึงแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า แล้วก็ใส่ไปก่อน แล้วค่อยรับผลประโยชน์ทีหลัง หรือไม่ก็รับผลประโยชน์มาก่อนส่วนหนึ่ง นั่นคือระบบของอันธพาล”

ในสายตาของปุ๊ เขายืนยันว่า ‘นักเลง’ ที่แท้จริงนั้น มีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

“นักเลงที่มีเหตุผล เขามีกันมานานแล้ว มีตั้งแต่ก่อนผมเกิด นักเลงที่แท้จะไม่มีปัจจัยอื่นมาเอื้อ นอกจากความยุติธรรม ซึ่งจะสัมผัสได้เลยว่า คนคนนี้ เป็นนักเลงจริงๆ ไม่รังแกผู้หญิง ไม่รังแกคนที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น ถ้าผมไปเจอคนแก่อย่างกรณีนี้ (เมธี) ผมก็จะซัดแค่ทีเดียว ถ้าผมโมโหนะ ทีเดียวก็พอ แล้วก็เดินจากกันไป จากนั้นก็รอดูว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีปฏิกิริยายังไง แต่ถ้าตามติดกันขนาดนี้ อาจจะมีอะไรติดค้างในใจอยู่มากหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้”

เป็น ‘ดารา’ ต้องมีจุดเยือกแข็ง

เมื่อดารารุ่นใหม่ ไม่ว่าพระเอกหรือดาวร้าย ต่างก็ครอบครองคุณสมบัติเลือดร้อน เจ้าโทสะ ไม่รู้จักระงับอารมณ์กันอย่างนี้ เห็นทีจะต้องสะกิดใจ ให้แง่คิดกันหน่อย ดังทัศนะ จาก ‘เดอะ หนิง’ นิรุตต์ ศิริจรรยา พระเอกมาดนิ่ง นักแสดงรุ่นเก๋าผู้เป็นที่เคารพรักใคร่ของคนในวงการบันเทิง บอกกล่าวกับเราว่า

“อารมณ์ของนักแสดงต้องอยู่ในจุดเยือกแข็งมากกว่าคนทั่วไปที่ทำอาชีพอื่นๆ”
ใช่เพียงเป็นถ้อยคำเลื่อนลอย แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีในวงการบันเทิง สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมและคนวงการบันเทิงให้การยอมรับคือ นิรุตต์วางตัวเป็นแบบอย่างให้ดารารุ่นหลังได้เป็นอย่างดี และแทบไม่มีเรื่องเสียๆ หายๆ ให้ระคายหู

เดอะ หนิง บอกว่า ตัวเขาระลึกอยู่เสมอว่า นักแสดงไม่ได้วิเศษวิโสกว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไป มีอารมณ์รักโลภโกรธหลง จึงมีทั้งคนชอบและคนเกลียด ไม่แปลกที่พอพบเจอหน้าจะติฉินนินทา วิจารณ์ต่างๆ นานา หรือหากไปทำเรื่องผิดๆ ไว้เพียงนิด คนก็จะให้ความสนใจ เพราะฉะนั้น ดาราต้องไม่เก็บไปคิดให้มากความ

“ประชาชนและสื่อคือเจ้านายตัวจริงของดารา คอยกำหนดและควบคุม เมื่อดาราประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทางสามารถต่อว่า ลงโทษได้ แต่นักแสดงบางคนคิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษไปเสียแล้ว กลัวคำสัมภาษณ์ออกสื่อจะย้อนกลับมาทำลายตัวเองจนไม่กล้าให้สัมภาษณ์ หรือกลัวสื่อขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว”

อายุและวุฒิภาวะของดาราเป็นปัจจัยหนึ่งที่นิรุตต์เห็นว่าเป็นสาเหตุในการทะเลาะวิวาท

“หลังทำงานมาเหนื่อยๆ คุณยังชอบแสงสีเสียงในดิสโกเธค ไนต์คลับ หรือผับ อารมณ์ของคนที่เห็นดารา ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ และอารมณ์ของตัวนักแสดงเอง ทั้งหมดก่อให้เกิดการเขม่นกันขึ้นมาได้ง่าย เหมือนการทำงานในกองถ่ายซึ่งเป็นความวุ่นวาย เลิกงานก็ยังพาตัวไปหาความวุ่นวายอีก”

แต่ลูกผู้ชาย หรือสุภาพบุรุษที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องรักษาศักดิ์ศรีด้วยการใช้กำลังเสมอไป
“ไม่เสียศักดิ์ศรีหากจะเดินหนีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทตรงหน้า เมื่อเจอคนด่าต่อหน้าต่อตาหรือสาปแช่ง แค่ไม่รับรู้ เรื่องมันก็จบ ผมก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้เหมือนกัน จอดรถอยู่เจอคนเปิดประตูรถแล้วถุยน้ำลายลงพื้น มองหน้า พูดว่า โธ่เอ๊ย มึงมันก็แค่นักแสดง’ ผมก็ไม่ถือสาหาความ ขับรถไปซะ หมดสมัยอันธพาลครองเมืองแล้ว อาชีพนักแสดงไม่ใช่อาชีพนักเลง ไม่ต้องการชื่อต่อท้ายเหมือนแก็งอันธพาล ทำตัวอย่างนี้ไม่มีใครชอบหรอก”

นิรุตต์ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า ไม่เฉพาะนักแสดง ทุกคนควรรู้จักกาลเทศะ และมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม เขาเชื่อว่านักแสดงทุกคนระมัดระวังเรื่องการวางตัวอยู่แล้ว พยายามไม่ออกไปปรากฏตัวในสังคมหากไม่จำเป็น เวลาว่างหากิจกรรมทำ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หากทำได้ โอกาสในการไปมีเรื่องกับใครก็จะมีน้อยตามไปด้วย ต้องไม่เคร่งครัดกับการวางตัวมากจนเป็นการสร้างภาพ และที่สำคัญ อย่าน้อยอกน้อยใจ หากทำผิดแล้วสื่อนำเสนอ ไม่ได้เขียนชมเหมือนตอนที่มีผลงานโดดเด่น

“กว่าจะเป็นนักแสดงจริงๆ ที่ผู้ชมยอมรับในสถานะนักแสดงนั้นไม่ง่าย พอมีเรื่องชกต่อยจะโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นไปอีก ไปปรากฏตัวที่ไหน สังคมจะจับตา จนดาราคนนั้นไม่ชอบท่าทีของคนในสังคม พานก่อเรื่องมากขึ้นๆ เหมือนติดกับดักของตัวเอง จนสุดท้ายอาชีพดาราพังทลายลง”



ขอส่งต่อคำตักเตือน ฝากไปถึง ‘จอมบู๊นอกจอ’ ทั้งหลายด้วยก็แล้วกัน เพราะคุณคือ ‘บุคคลสาธารณะ’

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น