xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ย้ำความจำคนกรุง ชูรถไฟฟ้าโมโนเรลในแบรนด์ “สุขุมพันธุ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตรียมสร้างตราสินค้านึกถึง “สุขุมพันธุ์” นึกถึงรถไฟฟ้าโมโนเรล เตรียมประชุมความคืบหน้าสายแรกกับจุฬา 15 ม.ค.นี้ พร้อมเตรียมแผนเสนอ “อภิสิทธิ์” ให้กทม.ทำสีเขียวเร็วและดีกว่ารฟม.อย่างไร “ธีระชน” เผยมีนักธุรกิจไทย-มาเลย์ สนใจซื่อพันธบัตรกทม.แล้ว 10,000 ล้านบาท

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ตนจะทำให้คนกทม.ทุกคนสามารถจดจำม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ในเรื่องระบบขนส่งมวลชนที่ตนรับผิดชอบก็คือโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ไม่ใช่สานต่อโครงการเดิมให้แล้วเสร็จแต่เมื่อแล้วเสร็จกลับไม่มีใครนึกถึงว่าคณะผู้บริหารชุดนี้ได้ผลักดันให้มันเดินหน้าจนประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นจึงตั้งใจที่จะให้ทุกคนนึกถึงผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ต้องนึกถึงรถไฟฟ้าโมโนเรล โดยในวันที่ 15 มกราคมนี้ ตนจะไปหารืออีกครั้งกับผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในประเด็นเกี่ยวกับรางวิ่งหลังจากที่ประชุมครั้งที่แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปโดยทางจุฬาฯเห็นว่าควรที่จะให้ก่อสร้างเพียงรางเดียวซึ่งจะทำให้รถไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ต้องรอให้วิ่งจนสุดเส้นทางแล้วค่อยกลับมาใหม่ ขณะเดียวกันทางที่ปรึกษาของกทม.ได้เสนอว่าหากจะไม่ให้มี 2 รางคู่ขนานกันก็ควรที่จะให้สถานี CU2 เตรียมอุดมศึกษามี 2 รางเพื่อให้รถสามารถวิ่งสวนทางกันได้ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาในการรอนานขึ้น ทั้งขาไป-กลับจะต้องใช้เวลา 15 นาที แต่หากให้มีรถสวนกันได้ก็จะลดเวลาเหลือ 7.5 นาทีซึ่งในส่วนของจุฬาฯจะนำความคิดเห็นที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์กับประชาคมในพื้นที่มาหารือด้วย

นายธีระชน กล่าวว่า ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กทม.ขอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติคืนให้นั้นซึ่งหลังจากที่เมื่อปลายปีที่แล้วท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับท่านผู้ว่าฯกทม.ว่าหากจะนำกลับคืนจะสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)อย่างไร ซึ่งผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ได้มอบหมายให้ตนได้สรุปวิธีดำเนินการซึ่งขณะนี้ตนกำลังจัดทำแผนเพื่อแสดงให้เห็นว่าหากให้กทม.ทำจะดีกว่าและเร็วกว่ารฟม.อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ในความเห็นตนนั้นควรที่จะมอบให้เอกชนดำเนินการ เช่น แก้สัญญาสัมปทานให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซีซึ่งขณะนี้ที่บริษัทปรึกษาระบบขนส่งมวลชนกำลังศึกษาในรายละเอียดอยู่ เพราะความเป็นเอกชนสามารถดำเนินงานได้รวดเร็วกว่าสามารถเชื่อมต่อระบบเดิมได้ทันที อีกทั้งเมื่อมีความเป็นเจ้าของก็ต้องทำงานให้มีคุณภาพ ขณะที่กทม.มีหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งบีทีเอสซีสนใจที่จะลงทุนในเส้นทางนี้ค่อนข้างมากแต่กทม.เกรงว่าจะเป็นการผูกขาดรายเดียวเกินไปแต่ส่วนที่มีความจำเป็นก็ต้องให้เขา เพราะเมื่อเงินลงทุนถูกลงค่าตั๋วก็จะถูกลงประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง

นายธีระชน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในส่วนความคืบหน้าการออกพันธบัตรกทม.นั้นขณะนี้การเตรียมการต่างๆใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าได้มีกลุ่มเงินทุนจากภาคเอกชนจากบริษัท MANGOSTEEN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีทีเอสซี และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธนายง จำกัด(มหาชน) สนใจที่จะซื้อพันธบัตรจำนวน 5,000 ล้านบาท รวมถึงยังมีกลุ่มนักธุรกิจจากประเทศมาเลเซียที่แสดงความสนใจจะซื้อพันธบัตรกทม.อีก 5,000 ล้านบาท รวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ผู้ว่าฯกทม.ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจได้มีโอกาสเป็นเจ้าของพันธบัตรกทม.ก่อนแต่หากจำหน่ายได้ไม่ถึง 2,000 ล้านบาทก็จะเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจได้มีสิทธิ์ซื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น