xs
xsm
sm
md
lg

คีรีทวงคืนรถไฟฟ้า ทุ่มเงินกว่า4หมื่นล.ซื้อBTSต่อยอดอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คีรี กาญจนพาสน์” ทวงคืนรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกองทุนจากต่างชาติ ทุ่มเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น 94.60% ด้วยการกู้แบงก์ช่วยจ่าย 2.2 หมื่นล้าน ส่วนเหลือจ่ายเป็นหุ้นเพิ่มทุนบริษัท พอได้สมใจจะออกหุ้นเพิ่มทุนอีกล็อต 1.2 หมื่นล้าน บวกเงินใช้สิทธิวอร์แรนท์และกำไรจากการดำเนินงานเคลียร์หนี้สถาบันการเงิน เสร็จแล้วรุกแผนสอง ไล่เก็บรายย่อยอีก 5.4% มั่นใจแผนออกหุ้นเพิ่มทุนฉลุย เพราะใช้วิธีแถมวอร์แรนท์ล่อใจ ส่งผลเมื่อรวมกับลูกชายจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 41.46% ลั่น!เพื่อลุยพัฒนาโครงการอสังหาฯตามแนวรถไฟฟ้า โดยเตรียมเปิดตัวใหญ่วันที่ 10 พ.ค.นี้ 2-3 โครงการ

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) หรือ TYONG เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบในการเข้าซื้อกิจการของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นจำนวน 94.60% คิดเป็นมูลค่า 40,034.53 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ประกอบด้วย Siam Capital Developments (ฮ่องกง) Keen Leader Investment และหุ้นของนายคีรี กาญจนพาสน์ รวมถึงบริษัท สยาม เรลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ อินฟาสตรัคเจอร์

ทั้งนี้ บริษัทจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดจำนวน 20,655.71 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทอีกประมาณ 28,166.88 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.688 บาท คิดเป็นมูลค่า 19,378.81 ล้านบาท เพื่อชำระค่าหุ้นที่เหลือทั้งหมด โดยบริษัทจะดำเนินการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน จำนวนรวม 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระค่าหุ้นในส่วนที่เป็นเงินสดและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสแล้ว บริษัทจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 12,000 ล้านบาทให้แก่ผู้ถือหุ้น เดิมตามสัดส่วนของหุ้น(Rights Offering) เพื่อนำมาชำระเงินคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจาก 22,000 ล้านบาทที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อหุ้นบีทีเอส ส่วนยอดเงินกู้ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 ล้านบาท TYONG จะนำมาจากเงินที่ใช้สิทธิวอแรนท์ และกำไรจากการดำเนินงาน และในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทจะทำการจัดสรรหุ้นที่เหลือ โดยเสนอขายแก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement)

นอกจากนั้น เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนและเป็นการจูงใจในการจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ TYONGจะออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่าให้แก่ผู้ลงทุนทุกรายที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว โดยใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 3 ปี สามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อครบ 2 ปี นับจากวันที่ออก ซึ่งมีราคาใช้สิทธิที่ 0.70 บาท ต่อหุ้น

ทั้งนี้การซื้อหุ้นและการรับโอนกิจการจากผู้ถือหุ้นบีทีเอสในครั้งนี้ จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2553 โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 53 นี้

“ที่ผ่านมาได้ลองสอบถามไปยังผู้ถือหุ้นแล้วว่าหากมีการเพิ่มทุนจำนวน 12,000 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นเดิมต้องการที่จะเพิ่มทุนด้วยหรือไม่ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นแสดงความจำนงเพิ่มทุนแล้ว 70% อย่างไรก็ตามในส่วนที่เหลือหากผู้ถือหุ้นไม่มีเงินหรือไม่ประสงค์จะใส่เงินลงมาเพิ่ม บริษัทก็พร้อมที่จะนำไปเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายอื่นต่อไป” นายคีรีกล่าว

หลังจากการเพิ่มทุนครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทมีทุนจดทะเบียน 65,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 7,600 ล้านบาท ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนายง จะเปลี่ยนแปลงเป็นนายคีรี ถือหุ้น 38.8% และนายกวิน กาญจนพาสน์ (บุตรชาย) ถือ 2.7% รวม 41.46% และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนบริหารโดย Ashmore Invesment Management Limited และกองทุนที่บริหารโดย Farallon Capital Management,L.C. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในปัจจุบันของบีทีเอส นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทมีแผนซื้อหุ้นสามัญของบีทีเอสจำนวน 5.4% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย

นายคีรี กล่าวต่อว่า เหตุผลควบรวมกิจการครั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน และมองว่าทุกวันนี้ธุรกิจรถไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ดีมาก มีโอกาสในการเติบโตสูง และสามารถทำกำไรได้แล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากกว่า 4.5 แสนคนต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่นำรถไฟแบบ 4 โบกี้มาใช้ นอกจากนี้ยังพัฒนาโครงการอสังหาฯ ตามแนวรถไฟฟ้า ที่บีทีเอสมีที่ดินอยู่ และจะทำให้ธนายงได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ

"เหมือนเรียกลูกกลับมา เพราะตอนนี้ลูกโตแล้ว ตัวอ้วนแล้ว ถ้าตัวไม่โต ยังไม่อ้วน และงอแงอยู่จะเรียกกลับมาทำไม" นายคีรีกล่าว

ปัจจุบัน กลุ่มธนายงจะแบ่งโครงสร้างธุรกิจเป็น 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจเดินรถไฟฟ้า 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจโฆษณาบีทีไอ และ 4. ธุรกิจบางกอกสมาร์ทการ์ด ซึ่งเป็นธุรกิจตั๋วร่วมที่พัฒนากับรถไฟฟ้าใต้บีเอ็มซีแอล และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2554 และ5.ธุรกิจที่ดินเปล่าของกลุ่มธนายงที่อยู่นอกเหนือเส้นทางรถไฟฟ้า

โดยปัจจุบันรายได้ 90% มาจากการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส และโฆษณา 10% แต่ในอนาคตสัดส่วนรายได้จากการเดินรถจะเหลือ 85% ที่เหลือจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ ที่ธนายงจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการอสังหารริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า นอกเหนือโครงการที่อยู่นอกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันธนายงมีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในงวดปี 53 (เมษายน 53 –มีนาคม 54) ธนายง จะสามารถรับรู้รายได้และกำไรจาก บีทีเอส ได้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรของ ธนายงเติบโตมาก จากงวดปี 52 (สิ้นสุด มี.ค.53) ที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 10 ล้านบาท ขณะที่ คาดว่าสิ้นงวดปี 52 (สิ้นสุด มี.ค.53) บีทีเอสจะมีกำไรสุทธิประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท

อีกทั้ง บริษัทจะมีรายได้จากการรับบริหารสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าบีทีเอส และจุดขายต่างๆในห้างสรรพสินค้า ผ่าน บริษัทื วีไอจี โกลบอล มีเดีย จำกัด ซึ่งบีทีเอสถือ 100% โดยทำรายได้ประมาณปีละ 1,100-1,200 ล้านบาท และ บริษัท Bangkok Smart Card ที่จะร่วมกับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ทำตั๋วร่วมที่จะให้บริการต้นปี 54

“ในวันที่ 10 พฤษภาคม 53 นี้บริษัทจะเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 2-3 โครงการ โดยจะเน้นที่การสร้างแบรนด์ และจะนำการตลาดรูปแบบใหม่เข้ามาใช้ ไม่ใช่แค่ให้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเท่านั้น แต่จะมีอะไรที่มากกว่านั้น โดยเป็นรูปแบบที่นำมาจากต่างประเทศรับรองว่าน่าสนใจมาก ส่วนรายละเอียดโครงการขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องรอนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมายนก่อน” นายกวิน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น