xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมใช้ กม.คุมเข้มขอทาน เผยรายได้สะพัดกว่า 20 ล้านต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กทม.เอาจริงจัดการขอทานล้นเมือง เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุมกลางเดือนนี้ หารือบังคับใช้กฎหมายควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 อย่างเข้มข้น หลังพบขอทานมีรายได้ 300-1,000 บาทต่อวัน เงินสะพัดกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หวังให้ กทม.เป็นแบบอย่างทำงานในจังหวัดอื่น

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาคนขอทานใน กทม.ว่า กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาขอทานที่มีจำนวนมากและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรและพบเห็น โดยพบว่าสถิติจากการรับแจ้งเหตุคนขอทานและมีการกวาดล้างของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าเป็นคนต่างด้าวถึง 51% เป็นคนไทย 49% ซึ่งในจำนวนนี้มีการรายงานถึงปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้เด็กในการขอทาน การใช้เด็กเดินยาเสพติด และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในการทำงานที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ดูแลเรื่องคนต่างด้าว สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดูแลเรื่องยาเสพติด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเรื่องคนด้อยโอกาส แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ จากการสำรวจขอทานใน กทม.พบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 300-1,000 บาทต่อวัน ทำงานวันละ 8-18 ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วมีเงินสะพัดแต่ละเดือนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เด็กเป็นเครื่องมือ โดยกำหนดจุดขอทานเป็นบริเวณสถานที่ชุมชน เช่น สะพานลอย สถานีรถไฟ รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วงเวียนใหญ่ สถานีขนส่ง สนามหลวง โดยจากการตรวจสอบพบว่าขอทานมีทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างด้าว ทำงานเป็นขบวนการ มีการจัดระบบผลัดเปลี่ยนเด็กหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ จนเป็นธุรกิจค้ามนุษย์ข้ามชาติ


นายธีระชนกล่าวอีกว่า กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่จะใช้อำนาจจากคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อ พ.ศ.2540 เรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 ที่ให้อำนาจผู้อำนวยการเขต เจ้าหน้าที่เทศกิจ ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน โดยจะเชิญผู้แทนจาก พม. สตช. ตม. ศูนย์ประชาบดี มูลนิธิกระจกเงา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือในกลางเดือน ม.ค.2553 เพื่อกำหนดแนวทางทำงานร่วมกัน โดยในระหว่างนี้ กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจจำนวนขอทานทั้งหมดทั้ง 50 เขต รวมถึงแหล่งที่อยู่และข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการหารือ ผลักดันไปสู่วาระในระดับชาติ ให้การแก้ไขปัญหาขอทานของ กทม.เป็นแบบอย่างในการจัดการปัญหาในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น