xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยพบผู้พิการจากอุบัติเหตุฉลองปีใหม่ร้อยละ 4 - ร้อยละ 67 ทำงานไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการวิจัยผลกระทบจากอุบัติเหตุจราจรช่วงปีใหม่ พบผู้พิการร้อยละ 4 เป็นชายมากกว่าหญิง 4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น พฤติกรรมเสี่ยงไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มเหล้า ร้อยละ 67 ทำงานไม่ได้ สรุปผลปฏิบัติงานหน่วยแพทย์ในเทศกาลปีใหม่ปีนี้ 6 วัน ประชาชนโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 เฉลี่ยชั่วโมงละ 71 สาย ทีมแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศออกปฏิบัติการเฉลี่ยชั่วโมงละ 143 ทีม


นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติงานในช่วงฉลองเทศกาลปีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2553 รวม 144 ชั่วโมง มีประชาชนโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 ซึ่งเป็นเบอร์บริการฟรี ทั้งหมด 10,254 สาย เฉลี่ยชั่วโมงละ 71 สาย หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติงาน 20,616 ครั้ง เฉลี่ยออกชั่วโมงละ 143 ทีม เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร 7,329 ครั้ง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน 9,772 ครั้ง โดยออกไปแล้วไม่พบผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยตามที่รับแจ้งจำนวน 263 ครั้ง คาดว่าญาติหรือผู้พบเห็นน่าจะนำคนเจ็บป่วยไปส่งโรงพยาบาลก่อนที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินไปถึง ซึ่งมีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือความพิการซ้ำซ้อนได้ หากช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ดังนั้น หากเป็นไปได้ ขอให้ประชาชนรอรับการช่วยเหลือจากบุคลากรการแพทย์ที่ผ่านการอบรมมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินจะช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ปัญหาจากอุบัติเหตุจราจร นอกจากจะทำให้มีการเสียชีวิตแล้ว การบาดเจ็บยังทำให้เกิดความพิการตามมาภายหลัง โดยเฉพาะการบาดเจ็บรุนแรงทำให้อวัยวะสำคัญถูกทำลาย หรือสูญเสียการทำงานไปอย่างถาวร เป็นภาระแก่ครอบครัวเป็นอันมาก โดยความพิการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากอวัยวะสำคัญถูกทำลาย การช่วยเหลือและการเคลื่อนย้ายที่ไม่ถูกวิธี โดยผลการวิจัยของศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ได้ศึกษาอุบัติการณ์ความพิการและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในปี 2549 ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.เลิดสิน รพ.พระนั่งเกล้า รพ.ชลบุรี รพ.ราชบุรี รพ.พระพุทธชินราช รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ขอนแก่น และ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช พบมีผู้พิการจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือที่เรียกว่าบาดเจ็บสาหัสร้อยละ 4 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-29 ปี เป็นชายมากกว่าหญิง 4 เท่าตัว โดยร้อยละ 93 ใช้รถจักรยานยนต์ ที่เหลือใช้รถกระบะ รถเก๋ง ผู้ได้รับบาดเจ็บและพิการส่วนใหญ่ร้อยละ 83 เป็นผู้ขับขี่ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการถูกชนหรือชนกัน ร้อยละ 64

พฤติกรรมเสี่ยงของผู้พิการที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 100 รองลงมาคือไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 86 และเมาเหล้าร้อยละ 35 สภาพความเป็นอยู่ภายหลังเกิดอุบัติเหตุพบว่า 2 ใน 3 ทำงานไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลมากถึงร้อยละ 80 ในจำนวนนี้มากที่สุด เป็นพ่อ-แม่ร้อยละ 64 ส่วนที่เหลือเป็นคู่สมรส

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญของการป้องกันความพิการหลังบาดเจ็บ โดยพัฒนาทีมแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีหลายระดับ เพื่อออกไปให้การช่วยชีวิตอย่างทันท่วงทีและเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างถูกวิธี ขณะนี้มีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินได้รับการพัฒนามาตรฐานและขึ้นทะเบียนบริการ 10,000 ทีมทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น