สะบักสะบอมกันตั้งแต่ต้นปี 2552 กับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1 ) หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตามติดมาด้วยโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิตแต่ก็บั่นทอนคุณภาพชีวิตให้ถดถอยไม่น้อย รวมถึงโรคอหิวาต์ ไข้เลือดออก ฯลฯ ที่ในปี 2553 โรคเหล่านี้ยังคงต้องจับตาเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ภัยต่อสุขภาพในภาพรวมของปีหน้ายังคงมีความผันผวน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาด กรมควบคุมโรค มองว่ามาจากเหตุและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ผู้คนต้องดิ้นรนไปทำงานในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น มีการติดต่อค้าขายชายแดนมากขึ้น เลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภูมิอากาศของโลก ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบกับภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ รวมไปถึงภัยที่เกิดจากมนุษย์เอง เช่น โรคภัยที่เป็นผลจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ โรคระบาดเป็นสิ่งที่สามารถทำนายได้ยากยิ่งว่า สถานการณ์โรคจะรุนแรงมากหรือน้อย หรือจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ต่างกับการเกิดของพายุ เพียงแต่จากการศึกษาวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรค ทำให้สามารถบอกได้ว่า มีสัญญาณที่เกิดขึ้นที่ใดบ้าง และโรคใดบ้างที่ต้องจับตาและเตรียมรับมือมากเป็นพิเศษ
อันดับหนึ่ง โรคกลุ่มทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการติดต่อได้ง่าย เกิดขึ้นแล้วประชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ยิ่งภาวะโลกในยุคปัจจุบันการเดินทางสะดวกรวดเร็ว เรียกได้ว่า เดินทางได้ถี่และไปได้เร็ว ซึ่งไทยก็มีบทเรียนมาแล้ว
นพ.ภาสกร คาดการณ์ว่า ในปี 2553 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 จะยังคงระบาดต่อเนื่องต่อไปอีกครึ่งปีหลังจากนั้นเมื่อประชาชน 1ใน4มีภูมิต้านทานมากขึ้น กระระบาดจะชะลอตัวลงและอ่อนแรงกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อย่างไรก็ดี แม้ความรุนแรงของโรคจะไม่มากนักแต่ช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ภาวะปอดบวม ให้ได้รับการดูแลทันท่วงที พร้อมกับจับตาสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก
“ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอีกเรื่องคือการแลกเปลี่ยนพันธุ์กรรมของไวรัส ระหว่างสายพันธุ์ใหม่และเก่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงการผสมกับไข้หวัดนกและการกลายพันธุ์”
ที่น่าห่วงยิ่งกว่าไข้หวัดใหญ่ คือ โรคไข้หวัดนก ซึ่งในปีนี้เริ่มส่งสัญญาณว่าจะกลับมาระบาดอีก เนื่องจากพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทย อย่างอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนามมีการระบาดเกิดขึ้น และช่วงปลายปีพบมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกในเวียดนาม 1 ราย สร้างความวิตกกังวลในหมู่นักวิชาการอย่างมาก สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 ธันวาคม 2552 สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวม ที่อยู่ข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก 239 ราย แต่สอบสวนโรคแล้วมั่นใจว่าไม่ใช่ไข้หวัดนกอย่างแน่นอน
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หากมีการฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยชะลอการระบาดให้ช้าลงและช่วยลดความรุนแรงของโรคและช่วยลดการเสียชีวิตได้
นักระบาดวิทยาหลายท่านเห็นตรงกันว่า ในปี 2553 โรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง มียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งอาละวาดหนักในปีที่ผ่านมาในปีหน้ายังเป็นโรคที่น่าห่วงมากที่สุด
นพ.ภาสกร อธิบายว่า โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มพบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี มากขึ้น เป็นโรคที่พบในเขตเมืองมากกว่าในชนบท เนื่องจากในเขตเมืองมีความหนาแน่นมาก สอดคล้องกับภาวะที่อยู่อาศัยของยุงลายมาก เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลต่อระบบนิเวศวิทยาของยุง ซึ่งการเกิดภาวะโรคร้อนทำให้ปริมาณยุงเพิ่มมากขึ้นและขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้น โดยในเขตเมืองใหญ่สามารถพบโรคไข้เลือดออกได้ทั้งปี และพบมากในช่วงฤดูฝน
ขณะที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค มองว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ประมาณ 47,800 คนขณะที่ปี 2551 ที่มีผู้ป่วย 2,500 คน มากกว่าถึง 20 เท่า ซึ่งแนวโน้มในปีหน้าจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ที่สำคัญประชาชนกลุ่มเสี่ยงจะไม่อยู่เฉพาะในภาคใต้เนื่องจากมีการปลูกสวนยางในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน
“หากเปรียบเทียบการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในภูมิภาคเดียวกัน อย่างในประเทศอินเดีย มีการระบาดของโรคดังกล่าวมานาน 3 ปีแล้วแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่อย่างใด” นพ.คำนวณให้ภาพ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โรคนี้ ความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดและเป็นโรคที่ใช้มาตรการทางสังคมแล้วได้ผลที่สุด
นพ.คำนวณ คาดการณ์ว่า โรคอหิวาต์เป็นอีกโรคที่ต้องจับตาและเตรียมพร้อมรับมือ โดยอธิบายว่า อหิวาต์มีหลายสายพันธุ์ สำหรับในไทยการระบาดในรอบที่ผ่านมาเป็นการระบาดของสายพันธุ์อินาบา ซึ่งหมดรอบการระบาดลงแล้ว โดยในรอบใหม่จะเป็นสายพันธุ์ “โอกาว่า” ซึ่งคนยังไม่มีภูมิต้านทานโรคทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายขึ้น
“คาดว่า ในปีหน้าจะมีผู้ที่เป็นอหิวาต์สายพันธุ์นี้นับพัน ซึ่งเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวพบมีผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาต์ 212 คน พบผู้ป่วยมากสุดใน จ.ปัตตานี 205 คนที่เหลืออีก 7 คน อยู่ใน จ.ระยอง เมื่อสอบสวนโรคพบว่า เชื้อมีที่มาจากหมู่บ้านชาวประมง สะพานปลา ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวมาก ประกอบกับระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดี มีการถ่ายอุจาจะลงทะเล อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ ทำให้กุ้ง หอย ปลาที่อาศัยอยู่ในระแหวกนั้น มีเชื้อดังกล่าวอยู่เมื่อรับประทานอาหารไม่สุกจึงทำให้ติดโรคได้ สถานการณ์ในปีหน้ามีการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
นพ.คำนวณ มองว่า โรคนี้สามารถป้องกันและแก้ไข้ได้ โดยทางออกของปัญหานี้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควรเห็นความสำคัญและเข้ามามีบทบาทที่จะต้องลงทุนในการสร้างส้วมสะอาด ถูกสุขอนามัย รวมถึงแก้ไขปรับปรุงระบบน้ำประปาในพื้นที่ให้มากขึ้นเพราะเป็นปัญหาเรื่องห่วงโซ่อาหาร และหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข ก็อาจส่งผลกระทบกับธุรกิจประมงแช่แข็งที่มีการส่งออกไปขายในต่างประเทศ เพราะในอาหารทะเลเหล่านั้นอาจมีเชื้ออหิวาต์ได้
นพ.คำนวณ ยังบอกอีกว่า ที่น่าห่วงคือเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายในจังหวัดโดยรอบที่ติดกับทะเลในอ่าวไทยได้เช่นกัน อีกทั้งลูกเรือประมงไม่ได้อยู่ประจำที่แต่มีการเคลื่อนย้ายไปในในหลายจังหวัดอีกด้วย
ดูเหมือนว่าในปี 2553 โรคที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ยังคงเป็นปัญหาต่อไป และอาจมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นในบางโรค ส่วนโรคอุบัติใหม่คงต้องคอยลุ้นว่าจะเกิด “แจ็กพอต” ที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกตื่นตระหนก เหมือนที่เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อีกหรือไม่!