“ชินวรณ์” ชี้ปฏิรูปรอบสอง รัฐบาลเน้นการศึกษานอกระบบ ตามอัธยาศัย เตรียมเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ.... เผยหลังผ่านประชาพิจารณ์ครบถ้วนแล้ว พร้อมดันเข้าสภาฯ พิจารณาทันที
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่ห้องปิ่นเกล้า โรงแรมเอสดี อเวนิว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ...ว่า ตนเป็นคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มการรณรงค์การปฏิรูปการศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2540 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระบบ โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งไปที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษาเป็นสำคัญ ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษาในรอบสอง หรือในทศวรรษที่สองนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยควบคู่กันไปด้วย โดยมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิตขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้คนในชาติมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมและชุมชน ทำให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็งทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจต่อไป
“สาระสำคัญต่างๆ ในแต่ละมาตรของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญมาก เราจึงต้องมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ครอบคลุมและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ผมก็ยินดีที่จะบรรจุวาระพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ....เข้าสภาโดยเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม สำหรับเรื่องที่จะฝากให้ กศน.ช่วยดูแลต่อไปให้ดีที่สุดนั้น มี 4 เรื่อง คือ เรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตแก่ประชาชน การส่งเสริมการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี การใช้การศึกษาสร้างสังคมประชาธิปไตย และการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับสังคมชุมชน ซึ่งถือว่าทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตที่จะส่งเสริมคนไทยให้พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ” ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
นายประเสริฐ บุญเรือง รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (รองเลขาฯ กศน.) กล่าวว่า สภาพสังคมในปัจจุบันเสื่อมโทรมลง ปัญหาสังคมมีให้เห็นมอยู่ตลอด มีทั้งเด็กสาวใจแตกเกิดภาวะตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ทำให้ต้องหลุดออกจากการศึกษาในระบบด้วยกฎระเบียบที่มีอยู่ อีกทั้งในอนาคตประชากรสูงอายุของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะที่เด็กและเยาวชนมีจำนวนลดลง เนื่องจากผู้หญิงไม่อยากมีครอบครัว เพราะเห็นตัวอย่างความบีบคั้นของชีวิตครอบครัว ปริมาณการเกิดของเด็กจึงลดลงตามไปด้วย ภารกิจของผู้ที่จัดการศึกษาในระบบจะลดลง โรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าเรียนน้อยลงอาจต้องถึงกับปิดตัวลงไป ในขณะเดียวกัน ภารกิจของ กศน.จะสูงขึ้น เนื่องจากในอีก 15 ปี ข้างหน้า กศน.ต้องดูแลประชากรจำนวน 45 ล้านคน