xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีเล็งให้ดาบอย.ฟันเว็บโฆษณาขายอาหาร-ยาเว่อร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มานิต” แย้มไอซีทีเล็งเปิดช่องให้อย.สั่งปิดเว็บโฆษณาอาหาร ยา สินค้าผิดกฎหมายได้เอง ขณะที่รอบ 1 ปี ผู้บริโภคร้องเรียนโฆษณาอาหารเกินจริงมากสุด นิตยสารส่อโฆษณาผิดกฎหมายมากสุด 1 เดือนพบ 196 เรื่อง

วันที่ 18 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานครบรอบ 35 ปี อย. และเปิดศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ(ศรร.)ว่า เบื้องต้นได้หารือกับร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ในการให้อย.สามารถดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่ตรวจสอบพบว่ามีการโฆษณาขายสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือขายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองจากอย.ได้ทันที ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ก่อนจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เจ้าหน้าที่ของอย.จะต้องไปอบรมเพิ่มเติมความรู้จากไอซีทีก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวได้ หากอย.สามารถปิดเว็บไซต์ที่ทำผิดกฎหมายที่อย.รับผิดชอบอยู่ได้ทันที ไม่ต้องมีการสื่อสารหลายขั้นตอน จะช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้มาก การคุ้มครองผู้บริโภคทำได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมหลังจากอย.ตรวจสอบพบต้องแจ้งให้ไอซีทีตรวจสอบซ้ำ แต่ในอนาคตเมื่ออย.ตรวจเจอเว็บทำผิดก็เพียงประสานให้ไอซีทีทราบ และตรวจสอบเพียงว่าอย.แจ้งมาจริงก็ปิดเว็บได้ทันที เรียกว่าเจอปุ๊บปิดปั๊บ”นายมานิตกล่าว

ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2551- 30 พ.ย. 2552 อย.รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การโฆษณาอาหารเกินจริงและไม่แน่ใจว่าได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่ จำนวน 140 ครั้ง 2.ฉลากอาหารไม่ระบุวัน เดือน ปีที่ผลิต หมดอายุ หรือเลขสารบบอาหาร จำนวน 78 คน 3.นม เช่น นม ยูเอชที นมผง เสียก่อนหมดอายุ มีสารปนเปื้อน และสงสัยในคุณภาพ 106 ครั้ง 4.การขายยาโดยไม่ขออนุญาต ไม่มีเภสัชกร ขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท วัตถุเสพติด ยาไม่มีทะเบียน ยาชุด ขายตรง จำนวน 132 ครั้ง และ5.โฆษณายาเกินจริง และโฆษณาได้รับอนุญาตหรือไม่ จำนวน 82 ครั้ง

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเฝ้าระวังโฆษณาของศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ(ศรร.)ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พบผลิตภัณฑ์สุขภาพดำเนินการโฆษณาที่มีลักษณะน่าสงสัย จำนวน 230 เรื่อง แบ่งเป็น อาหาร 95 เรื่อง ยา 32 เรื่องเครื่องสำอาง 90 เรื่อง และเครื่องมือแพทย์ 13 เรื่อง ในจำนวนนี้หากจำแนกเป็นประเภทสื่อ พบว่า นิตยสารมีการโฆษณามากที่สุด 196 เรื่อง เว็บไซต์ 17 เรื่อง และเคเบิลทีวี 17 เรื่อง ซึ่งหลังจากตรวจพบลักษณะเช่นนี้ อย.จะตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบว่ามีการโอ้อวดชัดเจน เท่ากับกระทำผิดแน่นอนจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากพบเป็นการโฆษณาที่ไม่มีการกระทำผิดที่ชัดเจนจะตรวจสอบว่าขออนุญาตโฆษณาจากอย.ถูกต้องหรือไม่

“ผู้บริโภคสามารถมาร้องเรียนได้ด้วยตัวเองที่ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ทุกวันเวลาราชการ นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมายังช่องทางอื่น ๆ ได้ ดังนี้ สายด่วน อย. โทร 1556, อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th และ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในงานร้องเรียนนั้น ถือเป็นภาคที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติงานของ อย. ให้บรรลุเป้าหมาย และนับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานของ อย. ให้ดียิ่งขึ้น”นพ.พิพัฒน์กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อย.ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ(ศปป.) ขึ้น เพื่อทำงานควบคู่ไปกับศรร.ด้วย โดยศปป. ถือเป็นหน่วยงานเชิงรุกที่จะดำเนินการสำรวจตรวจจับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำผิดกฎหมายและมีผลกระทบสูงต่อผู้บริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าในอนาคต อย. จะยังคงมุ่งมั่นและพัฒนางานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น