อาจารย์หมอชี้ตัดขาดบริษัทยาสนับสนุนไม่ได้ แต่ต้องระบุชัดสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ยึดหลักให้บริษัทยาคืนกำไรสู่สังคมและเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยและคนไข้ ด้าน “หมอประเสริฐ” เสนอตั้งกองทุนส่งแพทย์ไปอบรม-เสนองานวิจัยเมืองนอก กันข้อครหา
พญ.สยมพร ศิรินาวิน อาจารย์ประจำภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่องจริยธรรมการส่งเสริมการขายยาว่า การที่บริษัทยาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดการประชุม การเดินทางไปสัมมนาต่างประเทศ ฯลฯให้กับบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องตอบว่า สิ่งใดที่บริษัทยาไม่ควรดำเนินการสนับสนุน สิ่งที่สนับสนุนได้ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้หมิ่นเหม่ต่อการผิดจริยธรรมและเกิดผลเสียกับสังคม โดยยึดหลัก2 ประการคือ การคืนกำไรสู่สังคมและให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เกิดการพัฒนา ซึ่งทำให้มีประโยชน์ต่อประสิทธิภาพในการรักษาของผู้ป่วยด้วย
“ส่วนตัวก็รับการสนับสนุนในการจัดกิจกรรมจากบริษัทยา แต่เฉพาะส่วนที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเท่านั้น เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วก็ไม่สามารถตัดความสัมพันธ์หรือการสนับสนุนจากบริษัทยาได้อย่างแน่นอน อย่างการประชุมในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องสากลที่บริษัทยาจะอำนวยความสะดวก เนื่องจากบริษัทยาสาขาต้นสังกัดเป็นผู้สนับสนุนในการจัดงานและแบ่งโควตาผู้เข้าร่วมประชุมของแต่ละภูมิภาค แต่ถ้าไปด้วยตนเองเป็นเรื่องยากที่จะทราบช่องทางการติดต่อประสานงาน ทั้งนี้การประชุมก็ควรเน้นเพื่อนำองค์ความรู้จากการประชุมเป็นหลัก ไม่ใช่มีการสนับสนุนเกินจำเป็น เช่น พักโรงแรมหรู ทานอาหารมื้อแพงๆ หรือเน้นเที่ยวมากกว่าการประชุม ซึ่งส่วนตัวหากไม่เห็นด้วยก็จะบอกกล่าวทันที”พญ.สยมพร กล่าว
พญ.สยมพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หากเห็นว่าบริษัทยาสมควรสนับสนุนให้แพทย์เกิดการพัฒนาความรู้ด้วยการเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ก็ต้องเน้นเฉพาะสาขาวิชาที่ได้ประโยชน์จากการประชุม ไม่ใช่เชิญแพทย์ต่างสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย อย่างไรก็ตาม แต่การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่มีผลต่อการตัดสินใจใช้ยาของแพทย์ ให้เกิดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นขึ้นรวมถึงกระทบต่อต้นทุนของยาจนทำให้ราคายาแพงขึ้นด้วย แต่ต้องการให้งบประมาณในการสนับสนุนดังกล่าวมาจากกำไร เหมือนกับกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) ที่งบประมาณต่างหากเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ไม่ใช่เป็นการนำไปค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นการเพิ่มต้นทุน
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าแผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการตัดปัญหาเรื่องหมิ่นเหม่จริยธรรมของวิชาชีพแพทย์ ควรมีการจัดกองทุนเพื่อให้แพทย์ไปประชุมเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากร รวมถึงไปเสนองานวิจัยในการประชุมนานาชาติด้วย โดยกองทุนนั้นจะต้องโปร่งใส ปราศจากข้อครหา เพราะแพทย์ที่ไม่ใช่ระดับอาจารย์แพทย์ก็ต้องการไปต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประชุมและได้องค์ความรู้ใหม่ๆด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้บริษัทยาสนับสนุนแพทย์เดินทางไปประชุมต่างประเทศแบบหนักข้อขึ้นทุกวัน ก็ควรดำเนินการเรื่องการพัฒนาบุคลากรในลักษณะนี้ให้ชัดเจนถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นข้อครหาเช่นนี้ต่อไป