“สมาน” ฟันธง “ปฎิทินสิงห์” แจกแถมขาย ยังไงก็ผิด! มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมแอลกฮอล์ เรื่องโฆษณา ด้าน อ.จุฬาฯ จวกขายโป้มุกเก่าควรคำนึงถึงธรรมาภิบาลได้แล้ว
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สธ.กล่าวว่า การดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต้องขอมติจากทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และด้านนิเทศศาสตร์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายอย่างเป็นทางการกับบริษัทผู้ผลิต จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาดทั้งหมด โดยตรวจสอบกิจกรรมทางการตลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกยี่ห้อ โดยเฉพาะการทำปฏิทินหวาบหวิวของเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะมีโลโก้ยี่ห้อเบียร์ปรากฏให้เห็นทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าเป็นปฏิทินของเบียร์ยี่ห้อใด เพราะตัวอักษรโลโก้ที่อยู่บนหน้าอกของนางแบบเป็นชนิดเดียวกับโลโก้ข้างกระป๋องเบียร์
“ไม่ว่าจะทำปฏิทินแจก แถม หรือขาย ก็ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น และแม้ว่าบริษัท สิงห์ฯ จะไม่ได้เป็นผู้แจก หรือขายปฏิทินเองก็ตาม ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่องการโฆษณา ซึ่งในการตีความทางกฎหมายแล้วรวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่กฎหมายมีข้อห้ามอย่างชัดเจน ดังนั้น บริษัท สิงห์ฯ จึงถือว่าเป็นผู้สนับสนุนให้จัดกิจกรรมพิเศษคือทำปฏิทินเนื่องในวาระปีใหม่ขึ้น” นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่บริษัท สิงห์ฯ จะว่าจ้างใครให้มาขาย หรือแจกปฏิทินต่อ ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน ในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมพิเศษด้วย และร้านค้าที่นำปฏิทินไปติด หรือขายต่อให้ถึงมือผู้บริโภคก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางกฎหมายนั้น สธ.จะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สืบสวนหาความผิดเอง โดยเรียกผู้เกี่ยวข้องให้ปากคำ จากนั้นจึงจะสรุปสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาลอาญาต่อไป
นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทีมที่ปรึกษากฎหมาย ยังได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทำเสื้อผ้ายี่ห้อสิงห์ ว่าเป็นการทำผิดกฎหมายตามมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาด้วย เพราะเสื้อผ้ายี่ห้อนี้ มีตราโลโก้เบียร์ รูปผลิตภัณฑ์เบียร์ให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย ซึ่งที่ปรึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การทำเสื้อผ้าของบริษัทสิงห์ ขายไม่ได้มีจุดประสงค์ขายเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว เพราะเสื้อยืดตัวหนึ่ง ราคาแพง 2,000-3,000 บาท แต่มีจุดประสงค์ต้องการให้ประชาชนเห็นโลโก้ รูปขวดเบียร์ และให้คนทำไปลอกเลียนแบบเสื้อผ้าเพื่อขายต่อในราคาถูก และหวังผลเพื่อการตลาดการส่งเสริมการขายด้วย
น.ส.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศสาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้สังคมต่างเข้าใจไปในทางเดียวกันว่าเป็นปฏิทินลีโอ ไม่มีใครเรียกว่าปฏิทินคุณลูกเกด หรือปฏิทิน วาบหวิว เท่านี้ก็แทบไม่ต้องตีความตามกฎหมาแล้วว่าบริษัทผู้ว่าจ้างทำเพื่ออะไร ซึ่งการจ้างบริษัทอื่นให้กระทำแทนก็ไม่ต่างกับการกระทำเอง เพราะทุกคนก็เข้าใจได้ว่าเป็นการทำเพื่อโปรโมตสินค้าของใคร เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมองค์การ ซึ่งทางบริษัท สิงห์ฯ ควรทบทวนบทบาทของตนเองว่า การชูว่าตัวเองเป็นองค์กรเพื่อสังคม แต่อีกด้านแสดงความก้าวร้าวและต่อต้านกฎหมายเป็นการกระทำที่สร้างความสับสนให้กับภาพลักษณ์องค์กร
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตลาดที่น่ากลัว คำนึงแต่ผลกำไรมากกว่าภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งปฏิทินดังกล่าวเป็นการใช้แผนการตลาดมุกเก่าที่ใช้ความเซ็กซี่มาเป็นจุดขาย ซึ่งหมดสมัยไปแล้ว บริษัท สิงห์ฯ ควรคำนึงถึงธรรมาภิบาลที่ดีให้สมกับสโกแกนของบริษัทที่ว่า “การให้ไม่มีที่สิ้นสุด” แต่กลับทำเรื่องผิดศีลธรรม อย่าอ้างการตีความตามกฎหมายหรือเปลี่ยนวิธีพูดว่าไม่ได้แจก แต่เป็นการขาย และเปลี่ยนจากบริษัท สิงห์ฯ เป็นผู้ผลิต เป็นบริษัทของคุณลูกเกด หรือเปลี่ยนจากผู้ชายพูดเป็นผู้หญิงพูดแทน เพราะยิ่งพูดมากก้ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรดูแย่ลง” น.ส.ปาริชาติ กล่าว