xs
xsm
sm
md
lg

สธ.บุกตลาดไทยพบสารฆ่าแมลงตกค้างในอาหารอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มานิต” นำทีมเจ้าหน้าที่ อย.บุกตลาดไท พบสารฆ่าแมลงตกค้าง 58 ตัวอย่าง จาก 79 ตัวอย่าง ใน 26 ร้านค้า หรือ ร้อยละ 73.41 โดยในปลาร้าพบสารฆ่าแมลง ร้อยละ 90 ปลาแห้งพบสารฆ่าแมลง ร้อยละ 83.33 และปลาเค็มพบสารฆ่าแมลง ร้อยละ 51.51

วันที่ 15 ธันวาคม นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากผลจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของหน่วยเคลื่อนที่ กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการเก็บตัวอย่างปลาร้า ปลาแห้ง และปลาเค็ม ที่จำหน่ายในท้องตลาดของเขตกรุงเทพฯ จำนวน 200 ตัวอย่าง และจากการทดสอบเบื้องต้น ตรวจพบสารฆ่าแมลงในสินค้าดังกล่าว จำนวน 85 ตัวอย่าง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42.5 จากนั้นจึงได้นำไปขยายผล โดยตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ตัวอย่างอาหารทั้งหมดมาจากแหล่งจำหน่ายรายย่อย ทั้งในตลาดสด ตลาดนัดและ ซุปเปอร์มาร์เก็ตในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดรับสินค้ามาจากแหล่งกระจายสินค้าเกษตรขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น

นายมานิตกล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสารฆ่าแมลงในปลาร้า ปลาเค็ม และปลาแห้ง ที่แหล่งกระจายสินค้าในแถบชานเมือง โดยเริ่มที่ตลาดไท ซึ่งจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 100% ที่วางจำหน่ายในตลาดไท รวมจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 79 ตัวอย่าง จาก 26 ร้านค้าผลปรากฏว่า มีการตกค้างสารฆ่าแมลงจำนวน 58 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 73.41 โดยในปลาร้าจากจำนวน 40 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 36 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 90 ปลาแห้งจากจำนวน 6 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 5 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 83.33 และปลาเค็มจากจำนวน 33 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 17 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 51.51 เพื่อเป็นการสกัดไม่ให้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยกระจายออกไป

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบครั้งนี้เป็นเพียงการตรวจสอบโดยชุดทดสอบอย่างง่าย ดังนั้น สำหรับตัวอย่างที่พบสารฆ่าแมลง อย. จะนำตัวอย่างไปส่งตรวจยืนยันผลในห้องปฏิบัติการมาตรฐานอีกครั้ง หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีการตกค้างสารฆ่าแมลง ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ในกรณีอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และกรณีอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตสินค้าพบว่า ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตอยู่แถบภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่ง อย.จะจัดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่เป็นแหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาเหล่านี้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป และขอให้ผู้บริโภคอย่าได้ตื่นตระหนกเพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวทำนองนี้เช่นกัน โดย อย.ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนมาโดยตลอด และหากต้องการบริโภคให้ปลอดภัยก็ควรสังเกตจากสภาพแวดล้อม ทั้งนี้หากอาหารที่จำหน่ายใกล้เคียงมีแมลงวันตอม แต่ไม่ตอมปลาเค็ม ก็ให้สงสัยว่าปลาเค็มนั้นปนเปื้อนสารฆ่าแมลง



กำลังโหลดความคิดเห็น