สังคมไทยรู้จัก “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ในฐานะโรงพยาบาลที่ศึกษา สืบเสาะ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และในฐานะของผู้ผลิตยาสมุนไพรคุณภาพดีที่ขายอยู่ในท้องตลาด แต่น้อยคนที่จะรู้ที่มาที่ไปของโรงพยาบาลที่สวยงาม อันเป็นทั้งที่รักษาผู้ป่วย ที่ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมไปถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปราจีณบุรีแห่งนี้อย่างละเอียด
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกเล่าถึงประวัติที่มาอย่างคร่าวๆ ของโรงพยาบาลฯ ว่า ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ด้วยตั้งใจจะถวายให้เป็นที่ประทับแรมแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หากพระองค์เสด็จฯ มาประทับแรมที่มณฑลปราจีนบุรีอีก เพราะก่อนหน้านั้นในปีพ.ศ.2451พระองค์ได้เสด็จฯ มาประพาสเมืองปราจีณฯแล้วครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงประสงค์จะสร้างที่ประทับให้สมพระเกียรติ จึงได้สร้างอาคารนี้ขึ้นมา
“แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน ในพ .ศ.2453 แต่อาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนี้ก็ได้รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์อีกหลายพระองค์ ต่อมาตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ ทรงมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและพระองค์ได้ประทานตึกหลังนี้ให้แก่ทางราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2482 จนได้กลายมาเป็นตึกผู้ป่วยหลังแรกของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว
...ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจงรักภักดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอย่างเข้มข้นลึกซึ้ง และเนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะมีอายุครบ 1 ศตวรรษ ทางโรงพยาบาลฯ จึงได้จัดเตรียมกิจกรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าศึกษาและมีประโยชน์ ซึ่งจะทยอยจัดอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนธ.ค.นี้
และแค่เพียงงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ก็ทำเอาบรรดาสื่อที่ไปทำข่าวทุกเล่มทุกช่องอิ่มอร่อยแบบสุขภาพดีกันถ้วนหน้า เพราะทางโรงพยาบาลฯ ได้นำ “ทายาท” ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอย่าง “ลุงเล็ก” - วิลาศ ปกมนตรี ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาหารประจำตระกูลเอาไว้อย่างไม่ตกหล่น มาโชว์ “ตำรับเจ้าคุณอภัยฯ” ให้ชมและให้ชิมกันอย่างเอร็ดอร่อยและได้ความรู้
“ผมเป็นหลานตาของท่านเจ้าคุณครับ คุณแม่ผมเป็นลูกสาวของท่านเจ้าคุณ คุณยายผมเป็นภรรยาคนสุดท้ายของท่านครับ ผมเกิดไม่ทันท่าน แต่ทันคุณยาย คุณยายผมจะผูกพันกับท่านเจ้าคุณตามาก ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะคิดถึง จะไหว้พระจะทำบุญก็ต้องทำแบบเจ้าคุณตาเคยทำ ไหว้อย่างที่ท่านเจ้าคุณตาเคยไหว้ เท่าที่คุณยายเล่า เจ้าคุณตาท่านไม่ดุ แต่ท่านจะเจ้าระเบียบ มีดุบางเรื่องเช่นเรื่องการปกครอง เพราะก่อนที่ท่านจะไปเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและเมืองพระตะบอง ท่านศึกษาในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาก่อน จะเคร่งครัดและมีวินัยมาก”
ลุงเล็กเล่าต่อไปถึงอุปนิสัยการรับประทานอาหารของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรต่อไปอีกว่า ท่านเจ้าคุณฯ เป็นคนที่สนใจเรื่องอาหาร พิถีพิถันเรื่องอาหาร อาหารตำรับของท่านแต่ละอย่างจะมีรับประทานกันเฉพาะในครอบครัว คือหารับประทานยาก เป็นสูตรเฉพาะของท่านเอง
“ท่านจะกินกับข้าวมื้อละไม่เกิน 3 อย่าง เพราะท่านบอกว่า ถ้าอร่อยทุกอย่าง กินหลายๆ อย่าง มันจะตีกัน กับข้าวตำรับท่านจะเน้นความสดและสมุนไพร สมุนไพรบางชนิดของท่านหลายคนไม่เคยรู้จัก เป็นตำรับป่าจริงๆ เหตุที่ตำรับอาหารท่านเจ้าคุณจะออกแนวอาหารป่า ไม่ใช่เพราะท่านล่าสัตว์ แต่เมื่อก่อนเมืองปราจีณฯ เป็นป่า มีสัตว์ดุๆ มาก บางครั้งมีคนเดือดร้อนเพราะสัตว์ร้ายมาก่อกวน กระทิงบ้าง ช้างบ้าง ท่านก็ออกไปจัดการ พอจัดการเสร็จแล้วก็นำมาทำอาหาร”
ลุงเล็กบอกเล่าถึงเมนูเด็ดๆ ตำรับท่านเจ้าคุณอภัยฯ อย่างไม่หวงสูตรว่ามีหลายอย่าง ทุกวันนี้ยังทำรับประทานเองในครอบครัว เพราะคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก ญาติพี่น้องบางคนอยากรับประทานก็จะมาหา เพราะคุณลุงได้วิชาไว้มาก เนื่องจากชอบเข้าไปขลุกอยู่ในครัวไฟของท่านเจ้าคุณตาทั้งแต่ยังเด็กๆ
“เมนูท่านจะใส่ใบไม้แปลกๆ ที่เป็นยาสมุนไพรซึ่งดีต่อสุขภาพ เช่นใบหูเสือ ที่นำมารับประทานกับน้ำพริกมะขามสูตรท่านเจ้าคุณ เป็นสมุนไพรที่โบราณนิยมปลูกไว้กันคุณไสย ทั้งยังมีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงเลือดลม แก้หวัด แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ฟกช้ำบวม ไปจนถึงแก้แมลงสัตว์กัดต่อย มีกลิ่นเหมือนออริกาโน่ที่เราไว้กินกับพิซซ่าครับ แต่หลายคนไม่รู้จัก”
นอกจากนี้ หลานตาของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังแนะนำสมุนไพรน่าสนใจที่อยู่ในตำรับอาหารประจำตระกูลอีก 2 ชนิดคือมะออมและมะสัง ว่า มะออมมีอีกชื่อหนึ่งคือ “ผักแขยง” ซึ่งในตำรับเฉพาะของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะใส่ในเมนู “แกงส้ม”
“มะออมกับมะสังนี่คนรู้จักน้อยครับ มะออมจะฉุนๆ นิยมใส่แกงอ่อม เป็นสมุนไพรที่ช่วยขับลม เป็นยาระบาย ช่วยขับน้ำนมของแม่ลูกอ่อน ทำให้เจริญอาหาร และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งสูง จริงๆ เป็นพืชสมุนไพรที่หาง่าย ขึ้นง่าย ขึ้นตามคันนา ส่วนมะสังนี่เด็ดมาก ปกติส้มตำมะระและแกงส้มเปลือกแตงโมคนส่วนใหญ่จะใช้รสเปรี้ยวจะมะนาว มะขามเปียก หรือมะดัน แต่ท่านเจ้าคุณท่านใช้มะสัง มะสังนี่เป็นพืชตระกูลส้ม มีวิตามินซีสูงมาก ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หมด เปลือกใช้ทำเครื่องหอม ดมแล้วชื่นใจ รากใช้แก้พิษยาฆ่าแมลง หรือนำมาต้มกินบำรุงกำลัง เวลาใช้ต้องผ่าและแกะใยในผลของมันมาใช้ อาหารของท่านเจ้าคุณจะอุดมไปด้วยสมุนไพรดีๆ ทั้งนั้นครับ ท่านจะกินตามธาตุด้วย ถ้าเข้าหน้าหนาวแบบนี้อาหารของท่านจะหนักพืชที่ให้ความร้อนเช่น พริก ข่า ขิง ตะไคร้ กระเทียม ขนาดปลาเผาตำรับท่านยังต้องพอกเกลือด้วยเกลือดินโป่งเลยครับ เพราะดินโป่งเป็นดินในป่า มีแร่ธาตุเยอะและมีสมุนไพรด้วย”
ในการนี้ลุงเล็กได้นำเมนูเด็ดๆ ตำรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาโชว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น มัมหมู, น้ำพริกมะขาม, แกงส้มเปลือกแตงโม, บ่อบุ้ง, ผัดหูเสือ และหมูปลาร้า ส่วนรสชาตินั้นการันตีโดย “แม่ช้อยนางรำ”-สันติ เศวตวิมล ที่ชิมแล้วถึงขั้นออกปากว่า “รสชาติแบบนี้ ไม่เคยกินที่ไหนมาก่อน”
หลายคนชักออกอาการอยากชิมและเริ่มอยากได้สูตรมาทำรับประทานเองในครอบครัวแล้ว งานนี้ลุงเล็กไม่หวงสูตร แถมจะเปิดอบรมวิธีทำอย่างเป็นทางการ ด้วยเพราะหลายคนที่จดสูตรไปทำเท่าไหร่ก็ไม่เหมือน
“ลำดับการใส่ส่วนผสมก่อนหลังก็สำคัญ ใส่ผิดนี่คนละเรื่องเลยนะครับ ผมเห็นผู้สนใจอยากได้สูตรเยอะ แล้วก็ไม่อยากให้ได้ไปแบบไม่ถูกต้อง”
สำหรับการอบรมทำอาหารตำรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 12 ธ.ค.ที่โรงเรียนการเรือน ตลาดยิ่งเจริญ และครั้งที่ 2 ในวันที่ 18 ธ.ค.ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และรับจำนวนจำกัดรอบละไม่เกิน 30 คน ผู้สนใจสามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ ภญ.โสภิต บุษยะจารุ โทร.081-4065427 และ 037-211289