สธ.ชงของบ 294 ล้าน เข้า ครม.อังคารหน้า สั่งเช็กสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยง “มาบตาพุด” พื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 1 หมื่นคน พร้อมพัฒนาศักยภาพ รพ.ให้ตรวจวิเคราะห์สารเคมีได้เอง ด้าน ปัญหาบ่อขยะสระบุรี กรมวิทยาศาสตร์ เตรียมรับรองห้องปฏิบัติการตรวจแคดเมียมและแมงกานีส โดยให้กรมวิทย์ที่ได้มาตรฐานตรวจสารดังกล่าวตรวจซ้ำอีกรอบ
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เป็นประธานคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยเบื้องต้นจะเสนอของบประมาณกลางเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างปี 2553-2555 จำนวน 294 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใหม่ทั้งหมดว่าเกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการดูแลรักษาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป โดยภาครัฐเป็นผู้ดูแลค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้ หากทาง สธ.สรุปเรื่องมาเร็วก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 1 ธ.ค.
“ที่ผ่านมา ข้อมูลของแต่ละฝ่ายยังไม่เป็นที่ตรงกันว่า ประชาชนในพื้นที่ป่วยเพราะว่าผลกระทบจากพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดหรือไม่ ซึ่งการที่ สธ.จะตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นต้องสำรวจใหม่ทั้งหมดว่าที่ระบุว่าป่วยกันอยู่ในขณะนี้เป็นการป่วยโรคทั่วไปที่สามารถป่วยกันได้ หรือเป็นการป่วยจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาถึงความชุกของโรคที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ด้วยเช่นกัน”นายวิทยา กล่าว
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการที่ขอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนต่อเนื่องจากการดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.พัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลมาบตาพุดในการรองรับความเจ็บป่วยโรคทั่วไปและโรคจากการประกอบอาชีพจากสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มศักยภาพในระบบห้องปฏิบัติการให้สามารถเชื่อมโยงกันระหว่างโรงพยาบาลมาบตาพุด และโรงพยาบาลระยอง อีกทั้งมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์สารเคมีได้เอง โดยไม่ต้องส่งห้องปฏิบัติการใน กทม.พร้อมกันนี้ยังต้องมีอุปกรณ์ในการรักษาวินิจฉัยโรคเฉพาะทางที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้วย
พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ทั้งนี้ เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวเป็นงบผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี จึงมีการจัดกรอบกำลังบุคลากรทางด้านวิชาชีพเวชกรรมให้มีกรอบอัตรากำลังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประจำยังโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เพราะปัจจุบันแม้จะมีแพทย์อยู่ในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้มีแพทย์เชี่ยวชาญสาขาโรคจากสิ่งแวดล้อมให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยในพื้นที่
“2.การตรวจคัดกรองสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเชิงรุก ซึ่งในส่วนนี้ใช้งบประมาณ 68 ล้านบาท เป็นการตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสียง อาทิ รัศมี 1 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บ้านที่มีบ่อน้ำปนเปื้อน ฯลฯ คาดว่า มีประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งหากประชาชนคนใดยังไม่ได้ตรวจวินิจฉัยก็จะได้ถือโอกาสวินิจฉัย แต่หากใครตรวจวินิจฉัยแล้วก็ถือเป็นการติดตามดูอาการและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปด้วย โดยจะมีการตรวจเช็คร่างกายเป็นระยะๆ”พญ.ฉันทนา กล่าว
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้กับประชาชนใน จ.สระบุรี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบ่อขยะกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่ง สธ.ได้ประสานความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และบริษัท สเปเชียลแล็บเซ็นเตอร์ จำกัด ดำเนินการศึกษาเพื่อหาผลสรุปข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยมี 2 ส่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ การวิเคราะห์หาระดับสารแคดเมียมและแมงกานีสในเลือดประชาชนที่ได้รับสัมผัสที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีประมาณ 2 หมื่นคน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง จึงนำหลักการทางระบาดวิทยาเข้ามาช่วยและอีกส่วนหนึ่งการวิเคราะห์หาระดับสารแคดเมียมและแมงกานีสในตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเป็นข้อมูลประกอบ
นพ.จักรธรรม กล่าวว่า ในการตรวจวิเคราะห์หาระดับสารแคดเมียมและแมงกานีสในเลือดนั้นจำเป็นต้องอาศัยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้การตรวจวิเคราะห์มีคุณภาพ ได้ผลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้เกิดประสิทธิผลในการวินิจฉัยโรค แต่ปัจจุบันห้องปฏิบัติการ ตรวจหาสารดังกล่าวทั้ง5แห่งยังไม่ผ่านการรับรองดังนั้นต้องเร่งให้ยื่นขอการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจนกระทั่งได้รับการรับรองต้องใช้เวลาพอสมควร
“ในกรณีเร่งด่วนในช่วงที่แต่ละห้องปฏิบัติการอยู่ระหว่างการขอการรับรอง สธ.จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฝ่ายพิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาระดับสารแคดเมียมและแมงกานีสในเลือดที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติจะเป็นผู้ดำเนินการทดสอบความชำนาญการวิเคราะห์ ให้กับห้องปฏิบัติการทั้ง 5 แห่งทำการวิเคราะห์แล้วส่งผลกลับมา เพื่อประเมินความชำนาญหรือความถูกต้องของผลวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนการวิเคราะห์หาระดับแคดเมียมและแมงกานีสในอาหารและเครื่องดื่มนั้นใช้ห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง”นพ.จักรธรรม กล่าว