สธ.เล็งชงขอรัฐหนุนงบประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ให้ชมรมผู้สูงอายุจัดกิจกรรมสังสรรค์ ออกกำลังกาย สร้างเสริมสุขภาพ พร้อมวางมาตรฐานควบคุมการผลิตผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้สูงอายุเพิ่ม แก้ปัญหาระยะยาว
วันที่ 24 พฤศจิกายน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ว่า ที่ประชุมมีการหารือกันเพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแล โดยตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด คือ นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม และ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัด สธ.รับผิดชอบ ในการศึกษายุทธศาสตร์ นโยบายและงบประมาณ วางกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายของประเทศ ต่อไป
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาผู้สูงอายุ คือ 1.ต้องส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เคลื่อนไปสู่การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ให้ช้าที่สุด โดยให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้กับชมรมผู้สูงอายุ ในการจัดกิจกรรม เช่น การออกกำลังกาย การเต้นรำ หรือ การสังสรรค์ ชมรมละ 1 พันบาท ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ทั่วประเทศมีชมรมผู้สูงอายุประมาณ 3 หมื่นแห่ง ดังนั้น ต้องใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวด้วย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า 2.จะต้องมีการผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพิ่ม เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดย สธ.จะเป็นผู้วางมาตรฐานและควบคุมในการผลิตผู้ช่วยพยาบาลและประสานกับวิทยาลัยพยาบาลในการผลิตบุคลากรที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการผลักดันและแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ ผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องมีคนดูแล ไม่ให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งมีเตียงเท่าไหร่ก็คงไม่พอ ครอบครัว ชุมชน ต้องช่วยกันดูแล
นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ซึ่งพบว่า มี 7-8% หรือประมาณเกือบ 1ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย และในอีก 15 ปี ข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งหากไม่เตรียมพร้อมในการรับมือ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น