xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเกรียง” ลาออก กก.SP2 อ้างถูกบีบ ที่ประชุมไม่ลดงบ สร้างตึกตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
ประธานชมรมแพทย์ชนบทลาออก หลังแพ้โหวต ชี้คณะกรรมการทบทวนไทยเข้มแข็ง บีบ “ราคาสิ่งก่อสร้าง-รถพยาบาล” ลดลงแค่นิดหน่อย ลั่นส่งหนังสือทักท้วงปลัด-รมว.สธ.เปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการ ขณะที่ “หมอสถาพร” ปล่อยเกาะ “หมอเกรียง” ดึงประธานชมรม ผอ.รพช.นั่งแทน ระบุ คำนวณราคาต่ำเกินไปเดือดร้อนก่อสร้างจริงไม่ได้ ต้องหาเงินสมทบ

วันที่ 23 พฤศจิกายน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมรายการในระบบบริการระดับทุติยภูมิ หรือโรงพยาบาลชุมชน เปิดเผยว่า ได้แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัด สธ.เป็นประธาน ว่า ขอลาออกจากการเป็นกรรมการและประธานคณะอนุกรรมการ เนื่องจากการหารือพิจารณาทบทวนราคาและความเหมาะสมใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและฟื้นฟูเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวนงบ 1.15 หมื่นล้านบาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลดราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยใช้ราคากลางที่อ้างอิงตามกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งแม้ว่าจะมีการปรับลดลงมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นราคากลางที่สูงอยู่ดี

“เหตุที่ลาออกเนื่องจากประธานไม่พยายามทำหน้าที่ประธานในการรับฟังความคิดเห็น แต่พยายามโน้มน้าวและสร้างแรงบีบคั้นผม และที่ประชุมเห็นด้วยในการใช้ราคากลางที่ยังมีราคาสูงอยู่ และพยายามปกป้องไม่ให้มีการปรับลดทั้งที่ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯที่ผมดูแล สามารถลดงบประมาณ และเพิ่มประโยชน์กับสถานพยาบาลมากขึ้น ผมจึงไม่อยากเป็นตราประทับหรือเป็นเครื่องมือในสิ่งที่ไม่ถูกต้องนี้ และหากลดราคาเพียงแค่ให้เห็นว่ามีการทบทวนราคาก็เหมือนสธ.ไม่จริงใจ”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า งบประมาณของ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 1.15 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบของสำนักงานปลัด สธ.จำนวน 9.53 พันล้านบาท หากดำเนินการตามข้อเสนอที่เสนอให้ไม่จำเป็นต้องใช้ราคากลางเดียวกันเหมือนกันทั้งประเทศ แต่กำหนดตามราคาที่เคยจัดซื้อได้ในพื้นที่ต่างๆ หากดำเนินการตามนี้จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ ประมาณ 25% เป็นจำนวนเงิน 2.382 พันล้านบาท และสามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปให้กับสถานพยาบาลได้ 102 แห่งใน 135 รายการ ขณะนี้การใช้ราคากลางของกองแบบแผนจะประหยัดงบประมาณได้ไม่ถึง 1 พันล้านบาท

“หลังจากนี้ จะให้ข้อมูลที่จะทักท้วงเรื่องดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนแทน พร้อมกับจะทำหนังสือข้อมูลดังกล่าวให้กับนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ.และนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข นอกจากนี้เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนตัวนพ.สถาพร ออกจากการเป็นประธาน เพราะเมื่อประธานมีความพยายามขัดขวางให้การดำเนินการล่าช้า และทำให้ผมคิดได้ว่า ท่านประธานเป็นตัวแทนปลัดสธ. เป็นตัวแทนรมว.สาธารณสุข ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจมีความไม่จริงใจในการแก้ปัญหานี้เหมือนกัน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ภาพสำหรับประกอบเนื้อหาข่าว
ดึงประธานชมรม ผอ.รพช.นั่งแทน
ด้าน นพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขว่า คณะกรรมการฯ มีมติให้ปรับลดวงเงินสิ่งก่อสร้างที่จะใช้งบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ลง โดยพิจารณาจากการยึดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2550 ซึ่งระบุหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้ว่า ราคาค่าวัสดุให้ยึดตามราคาของกระทรวงพาณิชย์และค่าแรงงานให้ยึดตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด

นพ.สถาพร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว เห็นว่าราคากลางก่อสร้างในปีนี้ถูกกว่าวงเงินสิ่งก่อสร้างที่สธ.ตั้งไว้เดิม จึงมีการปรับลดวงเงินสิ่งก่อสร้างลงให้เท่ากับราคากลางของปีนี้ เช่น อาคารหอพักพยาบาล 24 ยูนิต วงเงินงบประมาณทั้งหมดกว่า 2 พันล้านบาท สำหรับก่อสร้างประมาณ 200 แห่ง จากตั้งวงเงินก่อสร้างไว้เดิม 9.5 ล้านบาทต่อแห่ง ปรับลดลงเหลือเท่ากับราคากลางของปีนี้ คือ 8.6 ล้านบาท แต่หากเป็นพื้นที่แผ่นดินไหวให้บวกเพิ่มจากราคากลางอีก 10% และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยบวกเพิ่มอีก 5%

“ขณะนี้ถือว่าในส่วนของการทบทวนรายการที่จะดำเนินการตามงบของ พ.ร.ก.เสร็จสิ้นแล้ว จากนี้จะเสนอให้กับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.และนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลังและครม.เพื่อดำเนินการตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป”นพ.สถาพร กล่าว

นพ.สถาพร กล่าวถึงกรณีที่นพ.เกรียงศักดิ์ลาออกจากคณะกรรมการ ว่า นพ.เกรียงศักดิ์ ได้ลาออกจริง ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล และได้มีการมอบหมายให้ นพ.ประทีป เมฆประสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมรายการในระบบบริการทุติยภูมิแทน นพ.เกรียงศักดิ์

นพ.สถาพร กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ ได้นำเสนอราคาค่าก่อสร้างอาคารหอพักพยาบาลที่เคยจัดซื้อได้บางพื้นที่ในราคา 7.2 ล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดตั้งเป็นวงเงินค่าก่อสร้างอาคารดังกล่าวสำหรับใช้ในทุกพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประหยัดงบประมาณให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินไปชดเชยในส่วนอื่น แต่เมื่อมีการอธิบายด้วยเหตุผล คณะกรรมการเกือบเป็นเอกฉันท์ เว้นเพียง นพ.เกรียงศักดิ์ คนเดียว เห็นว่า หากตั้งวงเงินค่าก่อสร้างอาคารหอพักพยาบาลไว้ต่ำตามที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เสนอ อาจทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถจัดซื้อได้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้น เพราะพื้นที่ที่จัดซื้อจัดจ้างได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เสนอจะนำเงินที่ไหนมาสมทบแทน

“คณะกรรมการจำเป็นต้องตั้งวงเงินในอัตราที่ทั่วประเทศจะจัดซื้อได้ เพราะก่อนที่จะมีการสั่งชะลอการจัดซื้อจัดจ้าง หลายพื้นที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างค่าก่อสร้างอาคารหอพักพยาบาลได้ในราคาประมาณ 8 ล้านบาท ขอยืนยันว่า คณะกรรมการได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และหากพื้นที่ใดจัดซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าวงเงินที่กำหนด เงินส่วนต่างก็ต้องคืนให้กับรัฐบาลหมด เงินไม่ได้ไปไหน”นพ.สถาพร กล่าว

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กล่าวว่า ราคาค่าก่อสร้างอาคารหอพักพยาบาลในวงเงิน 9.5 ล้านบาทเป็นการตั้งไว้เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อปีนี้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปและกองแบบแผน ได้มีการพิจารณาข้อมูลที่ทันสมัยขึ้น พบว่าราคากลางในปีนี้อยู่ที่ 8.6 ล้านบาท จึงต้องปรับลดราคาลง ไม่ได้หมายความวงเงินเดิมมีการตั้งไว้สูงเกินเพื่อโกงแต่อย่างใด และในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหากพบว่าพื้นที่ ก.และ ข.ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันสภาพพื้นที่ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ราคาจัดซื้อจัดจ้างต่างกันมากจังหวัดที่ราคาสูงแตกต่างจากพื้นที่อื่นต้องรับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น