“ชินภัทร” เผย เตรียมกำหนดหลักเกณฑ์ประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนระบบใหม่ เน้นประเมินผลสัมฤทธิ์งานมากกว่าสมรรถนะ ระบุ แบ่งกลุ่มการประเมิน 5 กลุ่ม ไล่ตั้งแต่กลุ่มปรับปรุง จนถึงกลุ่มดีเด่น โดยปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ 4.6- 6% พร้อมแบ่งการประเมินเป็น 2 ช่วง สิ้นเดือน มี.ค.และ ก.ย.53
นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฎิบัติราชการและการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการ รวมถึงการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน เนื่องจากในปีงบประมาณ 2553 จะต้องเริ่มใช้การเลื่อนเงินเดือนในระบบใหม่ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากเดิมเป็นขั้นเงินเดือน ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำหนังสือเวียน ก.พ. ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 มายัง สป.ศธ.
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้กำหนดให้การประเมินผลการปฏิบัติราชการ มี 2 องค์ประกอบ คือ 1. ผลสัมฤทธิ์ของงาน ร้อยละ 80 และ 2.พฤติกรรมการปฎิบัติราชการ หรือสมรรถนะ ร้อยละ 20 จากที่ ก.พ.กำหนดว่าต้องให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของงานไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งนี้ เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มใช้ระบบนี้ ที่ประชุมจึงต้องการให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของงานมากกว่าสมรรถนะ เพราะการกำหนดสมรรถนะของแต่ละสายงานอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่หลังมีความชัดเจนแล้ว ก็จะเพิ่มสัดส่วนสูงขึ้นต่อไป สำหรับผลสัมฤทธิ์ของงาน 80% นั้น จะพิจารณาจาก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ปริมาณผลงาน 2.คุณภาพ 3.ความรวดเร็ว และ 4.ความประหยัดคุ้มค่า ส่วนตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย จะพิจารณาจากงานที่ได้รับมอบหมาย คือ งานตามคำรับรองประจำปี งานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก และงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะมากำหนดตัวชี้วัดประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน โดย ก.พ.กำหนดว่าตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักไม่น้อยกว่า 10% ของคะแนนรวม หรือมีไม่เกิน 10 ตัวชี้วัด เพื่อไม่เป็นภาระในการเก็บข้อมูล ส่วนการประเมินสมรรถนะ 20% นั้น จำแนกเป็น 2 ส่วน คือ 1.สมรรถนะหลัก จะประเมินกับข้าราชการพลเรือนทุกคน ใน 5 เรื่อง คือ การมุ่งผลสัมฤทธิ์, การบริการที่ดี, การสั่งสมความเชี่ยวชาญ, การยึดมั่นในความถูกต้อง, การทำงานเป็นทีม และ 2.สมรรถนะทางการบริหาร จะวัดกลุ่มข้าราชการอำนวยการขึ้นไป ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ สภาวะผู้นำ, การวางกลยุทธ์, ศักยภาพในการนำการปรับเปลี่ยน, การควบคุมตนเอง, การสอนงาน และมอบหมายงาน
นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า ในการประเมินจะมีการกำหนดช่วงคะแนน ตลอดจนกำหนดจำนวนข้าราชการในแต่ละช่วงคะแนนด้วย เพราะต้องผูกโยงกับการเลื่อนเงินเดือน ซึ่งต่างจากระบบเลื่อนขั้นเงินเดือนในอดีต ที่ไม่มีการกำหนดจำนวนข้าราชการในแต่ละช่วงคะแนน ส่งผลทำให้แม้ผลคะแนนการประเมินออกมาสูง แต่ข้าราชการกลับไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมีจำกัด ทั้งนี้ จะมีการแบ่งกลุ่มคนที่ได้รับการประเมิน ออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มปรับปรุง ต่ำกว่า 60 คะแนน กำหนดสัดส่วนข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มนี้ 5% ซึ่งจะไม่ได้เลื่อนเงินเดือน, กลุ่มพอใช้ ระหว่าง 60-69 คะแนน สัดส่วน 10% เลื่อนเงินเดือน 0.1-1.5%, กลุ่มดี ระหว่าง 70-79 คะแนน สัดส่วน 70% เลื่อนเงินเดือน 1.6-3%, กลุ่มดีมาก ระหว่าง 80 - 89 คะแนน สัดส่วนไม่เกิน 10% เลื่อนเงินเดือน 3.1-4.5% และกลุ่มดีเด่น ระหว่าง 90-100 คะแนน สัดส่วนไม่เกิน 5% เลื่อนเงินเดือน 4.6-6% ทั้งนี้ การประเมินเพื่อเลื่อนเงินเดือนจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเสร็จสิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2553 และช่วงที่ 2 เสร็จสิ้นวันที่ 30 กันยายน 2553