xs
xsm
sm
md
lg

เด็กอ้อน กยศ.เพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนตัว ขอครูประจำดูแลหวั่นถูกลอยแพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กกู้ยืม กยศ.วอนเพิ่มกู้ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ปรับช่องทางพีอาร์ให้เร็วขึ้น ย้ำ ภารกิจของผู้กู้หลังเรียนจบให้ชัดเจน แจ้งเตือนเป็นระยะ พร้อมขอผู้ดูแลเรื่องกู้เป็นข้าราชการประจำ หลังหลายแห่งใช้เจ้าหน้าที่อัตราจ้าง เหตุดูงานไม่ต่อเนื่อง เด็กถูกลอยแพ เมื่อลาออก คณะกรรมการรับลูกนำเข้าที่ประชุมพิจารณา

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งความต้องการของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องการให้ กยศ.แก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ โดยการเพิ่มเงินกู้ยืมเรียนในส่วนของค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากปัจจุบันที่ได้รับคนละ ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน หรือ เฉลี่ยวันละ 50 บาท ให้มากขึ้น, เพิ่มช่องทางการสื่อสาร ปรับระบบคอลเซ็นเตอร์ และการประชาสัมพันธ์ให้รวดเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันเมื่อมีการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์และเจ้าหน้าที่รับสายช้าทำให้เด็กเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์มาก

นอกจากนี้ ในส่วนของเอกสารประกอบการกู้ยืมเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจของผู้กู้หลังจบการศึกษาไว้อย่างชัดเจน และมีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ ทั้งทางทางจดหมาย และอีเมล, อีกทั้งครู อาจารย์ ที่ดูแลการกู้ยืมเงิน กยศ.ในแต่ละสถานศึกษา ควรเป็นข้าราชการประจำ เพราะสถานศึกษาหลายแห่งให้ครูหรือเจ้าหน้าที่อัตราจ้างดูแล เมื่อมีการลาออกงานก็ไม่ต่อเนื่องและเด็กถูกลอยแพ ซึ่ง กยศ.ควรประสานงานการจัดการเรื่องกองทุนผ่านต้นสังกัดของสถานศึกษาด้วย เพื่อให้การสั่งการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าควรมีการเพิ่มเงินกู้ยืมเรียนในส่วนของค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพราะปัจจุบันทั้งค่าพาหนะ และค่าอาหาร มีราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันวงเงินกู้ยืมในส่วนของค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่เพียงพอให้เด็กกู้ แต่วงเงินกู้ยืมในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาก็ยังมีเหลือ เนื่องจากสถานศึกษาจะไม่เรียกเก็บเงินในส่วนนี้จากนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของเด็กเหล่านี้จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป” นายอภิชาติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น