เลขาฯสปสช. แจงพันธกิจก้าวสู่ปีที่ 8 ตั้งกองทุนควบคุมเบาหวาน/ความดันสูง เพื่อป้องกันเกิดภาวะลุกลามไปสู่โรคอื่นๆที่รุนแรงตามมา การจัดระบบดูแลผู้ป่วยโรคนิ่วแนวใหม่ การขยายให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยาจำเป็น 2 รายการ การดูแลโรคไตครบวงจร และการเจรจาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น
วันที่ 19 พฤศจิกายน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดกิจกรรมทำบุญครบ 7 ปีวันก่อตั้งสปสช. ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขึ้นและมีการแสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง “ระบบหลักประกันสุขภาพกับคนไทย”โดยพระเทพปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พร้อมด้วยพิธีสงฆ์ในวันครบ 7 ปี
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 19 พ.ย. เป็นวันครบรอบ 7 ปี ของการก่อตั้งสำนักงาน ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยร้อยละ 99.18 หรือ 47 ล้านคนที่ได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพในการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 และล่าสุดเพิ่มเป็น 2,401.33 บาทต่อประชากรในปี 2552 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงาน 7 ปี ในการสร้างหลักประกันสุขภาพของ สปสช.นั้น พบว่าประชาชนมีการใช้บริการสาธารณสุขเฉลี่ยผู้ป่วยนอกปีละ 120 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในปีละ 5 ล้านคน มีการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังและค่าใช้จ่ายสูงอย่างทั่วถึง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งได้รับเคมีหรือรังสีรักษาเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ เฉลี่ยปีละ 1 แสนคน การผ่าตัดสมองเฉลี่ยปีละ 4 พันคน การผ่าตัดหัวใจเฉลี่ยปีละ 8 พันคน การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กว่า 1หมื่น 3พันราย
ขณะเดียวกันในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคให้คนไทยนั้น มีการตรวจคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรค เฉลี่ยปีละ 8 ล้านคน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน และการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน การดำเนินงานทางด้านหลักประกันสุขภาพทั้งหมดสะท้อนผ่านผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนจากสำนักโพลล์ต่างๆ ในแต่ละปีมากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ในส่วนของผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาลนั้น ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเน้นการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย
“สำหรับพันธกิจในการก้าวสู่ปีที่ 8 นั้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพคนไทย นำไปสู่โรครุนแรงอื่นๆตามมา การขยายให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยาจิตเวชที่จำเป็น 2 รายการ การปรับระบบบริการผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อลดการรอคิวและเพิ่มคุณภาพบริการเพื่อให้ผู้ป่วยโรคนิ่วเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาวการณ์นำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยโรคไตรบวงจร รวมถึงการเจรจาเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาจำเป็น แต่มีราคาแพง และมุ่งเน้นการบริหารสปสช.ให้เป็นองค์กรโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน”นายแพทย์วินัย กล่าว