xs
xsm
sm
md
lg

“ฟักข้าว” ผักร่ำรวยสารต้านมะเร็ง “ไลโคปีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าผักลูกกลมๆ มีหนามเล็กๆ โดยรอบแลดูน่าตาตลกมากกว่าน่ากินชนิดนี้ถูกขนานนามด้วยหลายชื่อแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “แก็ก”, “มะข้าว”, “ผักข้าว”, “ขี้กาเครือ” และที่คุ้นๆ หูก็คือ “ฟักข้าว”...ฟักข้าวเป็นพืชในตระกูลแตงกวา และมะระ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว บังกลาเทศ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“มีงานวิจัยของต่างประเทศที่ระบุว่าสารไลโคปีน ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถป้องกันความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ และระบุว่าสารนี้มีมากในมะเขือเทศ แต่จริงๆ แล้วในภูมิภาคบ้านเรายังมีพืชบางชนิดที่มีไลโคปีนสูงกว่ามะเขือเทศนับ 10 เท่า นั้นก็คือ “ฟักข้าว” นั่นเอง เราพบว่าในมะเขือเทศสุก 1 กรัม มีสารไลโคปีนอยู่ประมาณ 31 ไมโครกรัม ในขณะที่เยื่อเมล็ดฟักข้าว 1 กรัม ให้ไลโคปีนสูงถึง 380 ไมโครกรัมเลยทีเดียว” ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว แห่ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูล

เภสัชกรหญิงคนเก่งรายนี้กล่าวต่อไปอีกว่า มีการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ไลโคปีนสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินมะเขือเทศวันละถ้วย อีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้กิน ปรากฏว่า กลุ่มที่กินมะเขือเทศ เสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน ซึ่งจากการทดลองนี้แสดงให้เห็นชัดว่าไลโคปีนมีผลต่อการป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

“ปัญหาก็คือเราพบว่าคนไทยส่วนใหญ่จะกินของที่ดีมีประโยชน์ จากงานวิจัยของต่างชาติ คือถ้าไม่มีผลวิจัยจากต่างชาติก็จะไม่กิน พอกินก็กินเป็นกระแส ฮือฮากันได้สักพักก็จะเลิกเห่อไป อย่างมะเขือเทศกับไลโคปีน พอมีบทวิจัยก็เห่อกินกันทั้งที่มันก็เป็นพืชผักพื้นบ้านของไทยมานาน และในฟักข้าวที่มีไลโคปีน คนไทยก็ไม่สนใจเพราะมันไม่มีงานวิจัย ทั้งๆ จริงๆ ดั้งเดิมก็กินมานานแล้ว เพื่อนบ้านเราหลายประเทศก็กินกันเป็นเรื่องปกติ”

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า การบริโภคฟักข้าวในเมืองไทยส่วนใหญ่จะไม่กินลูก หากจะกินส่วนยอด ลูกก็กินบ้างแต่กินดิบ แต่ไลโคปีนในฟักข้าวจะมีมากที่สุดที่เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมื่อขณะที่มันสุกเต็มที่ ที่เวียดนามจะรู้จักฟักข้าวในชื่อของ “เกิก” ข้าวชนิดหนึ่งของเวียดนามจะหุงด้วยเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงของฟักข้าว หุงเสร็จก็จะกลายเป็นข้าวสีออกส้มๆ แดงๆ
พี่น้อง-โสรัจ เบญจกุศล
“ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ อยากเชิญชวนให้นำมาทำเป็นอาหารบริโภค และอยากรณรงค์ให้บริโภคเป็นอาหาร เพราะเชื่อว่าธรรมชาติได้กำหนดสัดส่วนดีไซน์มาให้เรียบร้อยแล้ว การกินสารอาหารจากพืชผักจะให้ดีที่สุดควรกินเป็นอาหาร แต่ที่ห่วงคือส่วนใหญ่จะกินแบบง่ายๆ คือหาแบบที่เป็นสำเร็จรูป เป็นแคปซูล เป็นยาที่สกัดออกมาแล้ว ซึ่งเราไม่รู้ว่าการที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่นทำให้แห้ง ทำให้เป็นผง หรือสกัดเอาแต่สารเพียวๆ นั้น จะทำให้โครงสร้างของสารนั้นๆ เปลี่ยนไปหรือไม่” ภญ.ผกากรอง แนะนำทิ้งท้าย

ด้าน “พี่ติ่ง” - พนิดา เกษรศรี แห่ง “บ้านฟักข้าว” อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ในฐานะของผู้ที่เคยกินฟักข้าวแล้วได้ผลดีจนกระทั่งเพาะขายเป็นกิจกรรมเล็กๆ ในครัวเรือน เท้าความให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้หนีอากาศร้อนมาเที่ยวภาคเหนือ ก็ไปเจอลูกฟักข้าวแก่จัดที่วางขายอยู่ในตลาด เห็นว่าแปลกดีจึงซื้อมาดูเล่น จากนั้นก็กลับไปหาข้อมูลว่าลูกฟักข้าวแก่จัดที่ได้มานั้นสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง

“เราก็หาในอินเทอร์เน็ต ก็พบงานวิจัยว่ามันมีไลโคปีนสูง มีสารมีประโยชน์ ก็เลยหาวิธีทำกินกันเองในบ้าน เราใช้เยื่อหุ้มเมล็ดมาทำเป็นน้ำผลไม้ แต่งรสด้วยน้ำตาลนิดหน่อย ดื่มเองในครอบครัว แล้วก็แจกคนรู้จัก หนักๆ เข้าหลายคนชอบก็ขอให้ทำให้บ้าง แนะนำให้ทำขายบ้าง เราก็หาข้อมูลเรื่อยมา ซื้อมาปลูก ตอนนี้ก็กลายเป็นกิจการเล็กๆ ของครอบครัวมา 2 ปีกว่าแล้ว คนให้ความสนใจมากขึ้น อาจจะเพราะว่าคนเริ่มหันมาสนใจสุขภาพแนวป้องกันมากขึ้นด้วย”

พี่ติ่งขยายความอีกว่า คนในแถบภาคเหนือนิยมกินส่วนของยอดฟักข้าว โดยนำมาแกงใส่ปลาแห้งบ้าง นำมาลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริกบ้าง ส่วนลูกอ่อนๆ ที่เนื้อแข็งๆ มาปอกแล้วหันเป็นชิ้นๆ ลงไปรวมกับผักอื่นๆ เป็นแกงแคบ้าง ส่วนลูกสุกไม่ค่อยมีคนกิน จะปล่อยให้สุกคาต้นเป็นอาหารของนก หนู กระรอกไปตามธรรมชาติ
.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว
“จากประสบการณ์ตรงปรากฎหลังการดื่มน้ำจากเยื่อเมล็ดฟักข้าวพบว่า รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น คุณแม่พี่อายุ 50 กว่าแล้วก็บอกว่าดื่มระยะหนึ่งแล้วผมเริ่มกลับมาดำอีกครั้ง แล้วพวกเราทั้งบ้านก็ไม่ค่อยป่วย อย่างโรคหวัดนี่ไม่มีใครเป็นมาสักพักแล้วค่ะ”

พี่ติ่งยังกระซิบอีกนิดสำหรับผู้ที่อ่านแล้วชักจะเห็นความสำคัญของผักพื้นบ้านน่าตาน่าเอ็นดูชนิดนี้และอยากหามาปลูกบ้างว่า ฟักข้าวปลูกง่าย แค่โยนเม็ดลงดินก็ขึ้นแล้ว มีหลายสายพันธุ์ พันธุ์ลูกใหญ่เฉลี่ยน้ำหนักลูกละ 1 กิโลกรัม เหมาะแก่การปลูกลงดินเพราะรากจะขยายไปเรื่อยๆ แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านน้อยๆ หรือคอนโดมิเนียมก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมที่ใบออกทรงกลมจะให้ลูกเล็กกว่าและมีขนาดต้นเล็กกว่า เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่จำกัดเช่นบนระเบียงในกระถาง ขนาดลูกก็เล็กตามไปด้วย ราวๆ ลูกเทนนิส ซึ่งเหมาะแก่กินคนเดียวหรือสองคนแบบฉบับครอบครัวสมัยใหม่ในเมืองใหญ่

ในขณะที่หนึ่งใน “คนสีเขียว” อย่าง “พี่น้อง” - โสรัจ เบญจกุศล” แห่งเครือข่ายตลาดสีเขียว เจ้าของร้านวุ้นดอกไม้หวาน ที่หลงรักในคุณประโยชน์ของฟักข้าวเข้าอย่างจัง ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบของฟักข้าวว่า เพราะหลายคนมองว่ามันเป็นวัชพืช ทำให้มีการถอนทิ้งจนปัจจุบันหากจะซื้อฟักข้าวแต่ละครั้ง ต้องใช้บริการไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ให้จัดส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะหาในแถบภาคกลางไม่ได้เลย

“เสียดายมาก เพราะเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก บ้านไหนมีอยากให้เก็บไว้ อย่าไปฟันทิ้ง และอยากให้ช่วยกันปลูกมากๆ เราจะได้มีพืชผักมีประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิดในสวยหลังบ้านของเรา”

พี่น้องยังได้แนะนำสูตรน้ำฟักข้าวผสมเสาวรสรสเปรี้ยวจี๊ดชื่นใจอย่างไม่หวงตำราว่า เป็นเครื่องดื่มปกติที่ทำดื่มเองอยู่แล้ว และมีประโยชน์ทั้งจากฟักข้าวและเสาวรส เนื่องจากฟักข้าวจริงๆ จะรสออกจืดๆ มันๆ ทำให้หลายคนที่ไม่คุ้นอาจจะไม่ชอบ การผสมน้ำเสาวรส หรือกระทั่งน้ำส้มหรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ จะทำให้ดื่มง่ายขึ้น

“ใช้น้ำเสาวรสประมาณ 70% ผสมกับเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว30% เติมน้ำตาลชิมรสตามใจชอบ ถ้าวันไหนร้อนๆ ยิ่งแช่เย็นยิ่งชื่นใจค่ะ”

...แค่ฟังสูตรก็น้ำลายสอ ใครจะเอาไปทำพี่น้องไม่หวง แถมสนับสนุนให้ทำอีกต่างหาก เพราะอยากเห็นคนไทยห่างไกลมะเร็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น