xs
xsm
sm
md
lg

พ่อหมอเฒ่า คนจับช้างรุ่นสุดท้ายแห่ง “สุรินทร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ โดย รัชญา จันทะรัง

เสียงบทสวดพิธีกรรมเป็นภาษาชาวกูยของพ่อหมอเฒ่าเมืองสุรินทร์ ถิ่นอีสานใต้ เพื่ออัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษรับเครื่องเซ่นไหว้พร้อมกับขอพรเพื่อให้มีโชคลาภและเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม ณ ศาลปะกำ สถานที่เปรียบเสมือนเทวาลัยอันเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์คชศึกษาแห่งบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม โดยศาลปะกำนี้นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน หรือที่บ้านของทายาทฝ่ายพ่อ มีลักษณะเป็นเรือนไม้คล้ายหอสูง มีเสาสี่ต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ณ ตำแหน่งที่เงาบ้านไม่ตกทับตัวศาลและเงาศาลไม่ตกต้องตัวบ้านซึ่งศาลปะกำจะใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำ และอุปกรณ์ในการคล้องช้าง

ลุงหมิว ศาลางาม ในวัย 80 ปีที่ยังคงแข็งแรงในในฐานะพ่อหมอเฒ่าเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่จะทำพิธีนี้ได้นั้นจะต้องผ่านพิธีประชิเพื่อให้เป็นหมอช้างที่สมบูรณ์ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบวชนาคโดยเมื่อประชิเสร็จแล้วก็จะได้เป็นหมอจ่าที่ยังคล้องช้างไม่ได้อันเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของการก้าวขึ้นสู่หมอสะเดียงที่สามารถคล้องช้างได้ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป หมอสดัมคล้องช้างได้ 10 ตัว และตำแหน่งสูงสุด ครูบาใหญ่ที่คล้องช้างได้นับ 10ๆ ตัว

ลุงหมิวในวันนี้กับตำแหน่งหมอสดัม ฉายภาพเมื่อครั้งเป็นหนุ่มรุ่นวัย 14 ปีกับการออกคล้องช้างเป็นครั้งแรกในชีวิตให้ฟังว่า ครั้งนั้นไปกับพ่อไปคล้องช้างที่แนวชายแดนประเทศกัมพูชา โดยคล้องมาได้ 1 ตัวเป็นช้างสีดออายุ 3 ปีกว่าๆ
ลุงหมิว คนจับช้างรุ่นสุดท้ายแห่งสุรินทร์
“ตอนนั้นลุงรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเป็นช้างตัวแรกที่จับได้เพราะลุงเกิดมาก็เห็นช้างที่บ้านแล้ว ซึ่งก่อนจะจับได้ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ เพราะต้องให้ช้างที่เราจะจับเกิดความคุ้นเคยเพื่อที่เขาจะได้ยอมมากับเรา บางครั้งเข้าไปจับได้เลยก็มี บางทีจับได้มากสุด 2-3 ตัว พอได้ก็เอามาฝึกให้เขาคุ้นเคยกับการเป็นช้างบ้าน แต่ก็ที่จะออกไปจับช้างก็ต้องทำพิธีก่อนนั้นก็คือเซ่นผีปะกำซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานมนานตั้งแต่อดีต”

การเซ่นผีปะกำจะกระทำโดยหมอช้างอาวุโส เจ้าของบ้าน และญาติพี่น้อง นำของเซ่นไหว้ไปยังศาลปะกำ จุดเทียนแล้วอัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกูยเคารพบูชาให้เข้ามาสิงสถิตย์ในเชือกเชือกปะกำนี้เพราะหนังปะกำถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวกูยใช้ในการคล้องช้างป่า ซึ่งในการเซ่นผีปะกำ มีหลักว่าผู้ทำพิธีและขึ้นศาลปะกำได้จะต้องเป็นผู้ชาย ลูกหลานของต้นตระกูล ผู้เป็นเจ้าของศาลปะกำ บุคคลอื่นห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด และโดยเฉพาะสตรีห้ามแตะต้องหนังปะกำเด็ดขาด ดังนั้น ผู้เข้าร่วมพิธี จึงต้องนั่งอยู่ที่พื้นดินล้อมรอบศาลปะกำ

ชั้นบนภายในศาลปะกำ จะเป็นที่เก็บเชือกปะกำ เป็นบ่วงบาศทำด้วยหนังควาย ที่นำมาตัดเป็นริ้วๆ แล้วตากแห้งจากนั้นปั่นเข้ากันเป็น 3 เกลียว มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว มีความยาวประมาณ 50-80 เมตร ซึ่งควาย 3 ตัวจะได้เชือกปะกำ 1 เส้น เชือกปะกำนี้บรรดาหมอช้างและควาญถือว่าเป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นที่สิงสถิตย์ของดวงวิญญาณครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และแต่ละตระกูลมักจะมีไว้ใช้เฉพาะคนในตระกูล ซึ่งต้องเคารพนับถือและเชื่อว่าผีปะกำจะสามารถบันดาลให้โชคดีหรือโชคร้ายในการคล้องช้างได้สิ่งที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเชือกปะกำคือ ห้ามเหยียบหรือห้ามผู้หญิง หรือผู้ที่มิใช่สายเลือด หรือคนต่างตระกูล แตะต้องหรือขึ้นไปในศาลปะกำ ถ้าละเมิดข้อห้ามดังกล่าวถือว่าผิดครู หรือผิดปะกำ อาจมีผลร้ายต่อผู้ไปคล้องช้างได้

ส่วนเครื่องรางที่หมอช้างนำติดตัวไปด้วยนั้นจะเป็นสายรัดที่เอวที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ซึ่งเมื่อออกมาจากป่าก็ต้องเก็บไว้บนหัวนอน ห้ามนำไปให้คนอื่นดู ซึ่ง เครื่องรางของลุงหมิวนั้นมีทั้งต้นห่าเสื่อ เขี้ยวหมูตัน จันทคราส เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะประกอบกิจการใดๆชาวกูยมักจะมีการเซ่นบวงสรวงผีปะกำก่อนเสมอ

“ตอนนี้ไม่ได้ออกไปจับช้างป่าที่ชายแดนอีกแล้ว เลิกจับช้างตั้งแต่ปี 2500 สุดท้ายทุกวันนี้จึงเหลือหมอช้างแค่ 5 คนเท่านั้นไม่มีผู้สืบทอดอาชีพนี้ต่ออีกแล้ว” หมอช้างผู้อาวุโสสูงสุดในบรรดาหมอช้างที่เหลืออยู่เป็นรุ่นสุดท้ายในโลก เล่าให้ฟัง
กำลังโหลดความคิดเห็น