ช้าง ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทยมาช้านาน ทุกครั้งที่แผ่นดินสยามต้องเข้าสู่สงคราม ช้าง จะเป็นกำลังสำคัญในสมรภูมิศึกกอบกู้เอกราชให้แก่แผ่นดินสยามเสมอมา โดยเฉพาะช้างเผือกซึ่งเป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษต่างจากช้างเชือกอื่นๆและแสดงถึงการยอมรับในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น
ในราวปี พ.ศ.2302 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยาช้างเผือกได้แตกโรงไปอยู่แถวป่า แขวงเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้ทรงให้ไพร่พลออกติดตาม ชาวเขมร ส่วย ลาว หลายคนได้อานำทางตามจับพระยาช้างเผือกและได้ติดตามส่งกลับคืนยังกรุงศรีอยุธยา จนได้รับความดีความชอบแต่งตั้งยศชั้นฐานันดรเป็น “เชียงปุม” เป็นหลวงสุวรรณภักดีและเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จารงวาง ในเวลาถัดมาและได้เปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์ เป็น “เมืองสุรินทร์” ตราบจนปัจจุบัน
จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” มีหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและริมฝั่งลำน้ำชี ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง วัวและควาย เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเสริมอาชีพหลักในการทำนา ทำไร่ และเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ซึ่งแต่เดิมแทบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงช้างอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เชือก มีการสืบทอดวิชาจับช้าง การเลี้ยงช้าง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจนเป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านช้าง”
ปี 2495 ช้างนับร้อยเชือก ได้มาชุมนุมกัน ณ หนองสก๊วล ต.กระโพ อ.ท่าตูม ซึ่งเป็นการรวมช้างมากที่สุดในขณะนั้น จนถึงปี 2503 การแสดงของช้างได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เนื่องในโอกาสฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่และจัดเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูม ณ บริเวณสนามบินเก่า(ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ร.ร.ท่าตูมประชาเสริมวิทย์) ซึ่งมีนายวินัย สุวรรณกาศ เป็นนายอำเภอในขณะนั้น ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแสดงคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จากการจัดงานในครั้งนั้น ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทาง อสท.(ในขณะนั้น) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบการแสดงให้น่าสนใจ
ในปี พ.ศ.2505 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติตามที่ อสท.เสนอให้การจัดงานช้างเป็น งานประเพณีของชาติ ซึ่งนายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าการจัดงานที่อำเภอท่าตูม นักท่องเที่ยวไม่สะดวกในการเดินทางไปชม จึงได้ย้ายสถานที่จัดงานจากอำเภอท่าตูม มาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นปีที่ 49
นับถอยหลังจากนี้ไปใกล้เข้าสู่งานช้างและกาชาดสุรินทร์ ปีที่ 49 เข้าไปทุกที วันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2552 รวม 12 วัน 12 คืน ซึ่งในปีนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสนามแสดงช้าง อัฒจันทร์ชมการแสดงช้างใหม่ ให้มีความสวยงาม ยิ่งใหญ่ เหมาะสมกับฉากการแสดงที่ปรับปรุงใหม่ ให้มีความยิ่งใหญ่ ตื่นตาตื่นใจและน่าชมมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ใช้ผู้ร่วมแสดงกว่า 2,000 คน ช้างกว่า 300 เชือก ในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2552 ระหว่างเวลา 08.30-11.30 น. ณ สนามแสดงช้างสุรินทร์ ประกอบด้วยฉากการแสดงต่างๆ จำนวน 6 ฉากใหญ่ ได้แก่
องก์ที่ 1 ชื่อ นมัสการองค์สุรินทร์เทวา เป็นการใช้เอฟเฟ็กหมอกเมฆลอยกรุ่นเต็มสนามแสดงองค์พระสุรินทร์เทวาประทับบนหลังคชาธารที่มีรูปร่างงดงามที่สุดเสด็จออกมาจากเมฆหมอกพร้อมมีเสียงการขับเสภาที่ไพเราะ
องก์ที่ 2. ชื่อ สะท้านภพ สนั่นไพร ไหว้ฟ้า บูชาครู เป็นการแสดงออกของชาวกูยพากันประกอบพิธีไหว้ศาลประกำก่อนออกคล้องช้างป่า ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับหลายร้อยปี โขลงช้างป่าจำนวนมากกว่า 250 เชือก ออกมารวมกันไว้ดั่ง “ทะเลช้าง” เพื่อให้พรานช้างไล่คล้อง นับเป็นความสามารถของคนเลี้ยงช้างชาวกูย
องก์ที่ 3. ชื่อ ตระการตา บูชาบรรพบุรุษ เป็นฉากการแสดงวัฒนธรรมของชาวกวยเลี้ยงช้างที่กำลังบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วแปรขบวนเป็นรูปแบบต่างๆสวยงามมาก โดยการรำใช้ชื่อว่า รำแกลมอ คือบูชาผีฟ้าตามความเชื่อถึงของชาวกวยอาเจียงหรือชาวกวยที่เลี้ยงช้าง
องก์ที่ 4. ชื่อ ฉลองช้าง เฉลิมเมือง ชาวกูยทั้งชาย-หญิง จำนวน 500 คน ออกมาร่ายรำ เรือมอันเร เฉลิมฉลองการคล้องช้างรวมทั้งการแสดงกายกรรมช้าง ช้างชักเย่อ ช้างเตะฟุตบอล ช้างขึ้นแท่นยกขา ช้างเล่นฮูลาฮุก ช้างปาเป้า ช้างวาดภาพ ช้างเล่นต่อตัว ดูน่ารักมาก
องก์ที่ 5 ชื่อ ช้างศึก ยุทธหัตถีมีชัย เป็นการแสดงขบวนทัพฝ่ายอโยธยา กับ ขบวนทัพหงสาวดี เคลื่อนออกมาจากทั้ง 2 ด้าน แล้วหยุดเผชิญหน้ากันอยู่คนละด้านสนามแล้วแปรขบวนทัพออกตั้งรับศึก มีการสู้รบของช้างและม้า เสียงปืนใหญ่ซึ่งแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่อลังการของกองทัพโบราณ ซึ่งเป็นฉากไฮไลท์ของการแสดงใช้เวลาในฉากนี้ร่วม 35 นาที
องก์ที่ 6 ชื่อ ยิ่งใหญ่เกรียงไกร ช้างไทยใต้ร่มพระบารมี เป็นฉากจบ โขลงช้างและผู้แสดงทุกฉาก ทยอยเดินออกมายืนล้อมกองทัพยุทธหัตถี ลำลาผู้ชมและถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและร่วมร้องเพลง “พ่อของแผ่นดิน”
นอกจากงานแสดงช้างแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเลือกชมกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจและตื่นใจอีกมาก อาทิ งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง
19 พ.ย.2552 เวลา 18.00 น. ชมการประกวดขบวนโต๊ะอาหารช้าง ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และชมการประกวดสาวงามเมืองช้าง ณ หอประชุมจังหวัดสุรินทร์
20 พ.ย.2552 เวลา 09.00 น.ร่วมงานต้อนรับช้างกว่า 300 เชือกและเลี้ยงบุพเฟ่ช้าง ซึ่งทาง อบจ.สุรินทร์ ได้เตรียมอาหารสำหรับช้างประมาณ 60 ตัน
20-21. พ.ย. 2552 เวลา 19.00 น.ชมงานแสดง แสง สี เสียง สืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ ณ เทศบาลตำบลระแงง อ.ศีขรภูมิ
เมื่อท่านสนุกสนามเพลิดเพลินกับงานช้างและกาชาดสุรินทร์ อย่าลืมเที่ยวชมความงามแห่งดินแดนอารยธรรมของปราสาทขอม พร้อมวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ และศูนย์คชศศึกษาที่บ้านตากลาง ต.กระโพ ชม..วิถีชีวิตชาวกวยอาเจียง หรือชาวกวยเลี้ยงช้าง – ที่บ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมืองสุรินทร์ ชมผ้าไหม 1,816 ตะกอ ตำนานผ้าไหมที่ได้รับการกล่าวขาน เป็นศิลปะแห่งการถักทอด้วยฝีมือมนุษย์ที่บรรจงสร้างอย่างวิจิตรงดงามยิ่ง หนึ่งเดียวในโลก ร่วมเคาะระฆังมหากุศล จากทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์ เรียงรายตามเส้นทางขึ้นพนมสวาย นมัสการพระพุทธสุรินทรมงคลและตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ สำรวจเส้นทางสู่นครวัดอันยิ่งใหญ่และอีกมากมายที่ให้คุณค้นหาที่ “เมืองสุรินทร์” ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวบปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” อย่าลืม ..พบกันในงานช้างและกาชาดสุรินทร์ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 14-25 พ.ย.52 นี้ หนึ่งปี มีครั้งเดียว ไม่ไป ไม่รู้
เทียวงานช้างสุรินทร์ นักท่องเที่ยวปลอดภัย
นายวิเชียร ชวลิต ผวจ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในการจัดงานช้างและกาชาดสุรินทร์ ประจำปี 2552 จังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ด่านตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง หน่วยทหารและหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ราชการต่างๆ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ โรงแรม เส้นทางและบริเวณที่จัดกิจกรรม ตรวจสอบบุคคลที่ต้องสงสัย รวมทั้งบุคคลที่เดินทางผ่านเข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อย่างเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษและได้วางมาตรการในการป้องกันเหตุร้าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
จังหวัดสุรินทร์ได้วางแผนเตรียมการในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยดำเนินการและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่ง มีการเข้มงวดกวดขัน สอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งสถานบริการและแหล่งท่องเที่ยว ป้องกันมิให้เกิดปัญหาการก่ออาชญากรรมหรือก่อเหตุร้ายแรงและที่สำคัญขณะนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV. ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 15 จุด โดยมีศูนย์ควบคุมที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ เพื่อใช้ในงานจราจรและป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและรักษาความมั่นคงความสงบเรียบร้อยในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่พักแรมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ทางจังหวัดได้ประสานกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยทหารในพื้นที่ในการตรวจตรา ค้นหา วัตถุระเบิด ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดและสถานที่จัดงานแสดงช้าง รวมถึงเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ การจัดหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน มีทีมแพทย์ พยาบาล เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอด 24 ช.ม. จึงขอให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจความปลอดภัยได้.....ผู้ว่าฯกล่าวและว่า
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาพักนอนในจังหวัดสุรินทร์ ในเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 ก่อนไปชมการแสดงช้าง ทาง ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้จัดการแข่งขันวิ่ง “ราชมงคลอีสานเมืองช้าง มินิ-ฮาล์ฟ มาราธอน” ระยะทาง 21.1 ก.ม.และการเดินเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 3.5 ก.ม. ณ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสานฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเสริมการกีฬาให้กับประชาชนและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่รักการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบของการแข่งขันกีฬา ซึ่งสามารถพาครอบครัวมาพักผ่อนในวันหยุดได้อีกทางหนึ่ง