รวมพลังต้านภัยเอ็กซ์โปบุหรี่ 500 องค์กรผนึกแสดงจุดยืนต่อต้านจัดการเอ็กซ์โปบุหรี่ในไทย จี้รัฐบาลไทยออกมติคณะรัฐมนตรีรับมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่บริเวณหน้าอาคารชาแลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี เครือข่ายต้านภัยเอ็กซ์โปบุหรี่ ประกอบด้วยเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสารคาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายนักรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งอาเซียน เครือข่ายแพทย์ชนบท สมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวม 500 องค์กร จำนวนกว่า 1,000 คน รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนเพื่อต่อต้านการจัดงานเอ็กซ์โปบุหรี่ ที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีการทำป้ายต่อต้านและการแสดงเกี่ยวกับภัยบุหรี่ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านการจัดงานดังกล่าวแล้ว 86,238 คน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ประกาศในการชุมนุมว่า การชุมนุมในครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนให้ผู้จัดงานเอ็กซ์โปบุหรี่รู้ว่าทุกภาคส่วนในสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นิสิตนักศึกษา นักเรียน เครือข่ายต่างๆ กว่า 500 องค์กร ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มธุรกิจยาสูบมาใช้แผ่นดินประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุมเพื่อระดมสมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ หลอกล่อให้ประชากรในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่
“ที่สำคัญการจัดงานเอ็กซโปยาสูบครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณให้นานาประเทศรู้ว่า ธุรกิจยาสูบยังไม่หยุดการระดมสมองที่จะหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาหลอกล่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน สตรี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิเสธไม่มาเป็นประธานเปิดงาน รวมถึงโรงงานยาสูบ ไม่รวมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ใบยาสูบต่างๆในงาน โดยเปลี่ยนเป็นบูธนวดสปาแทน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะงดเข้าร่วมงานโดยเด็ดขาด” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเห็นชอบให้มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ทุกหน่วยงานยึดถือตามแนวปฏิบัติ มาตรา 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก โดยหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจะต้องไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ ไม่รับความช่วยเหลือใดๆ จากอุตสาหกรรมยาสูบทุกรูปแบบ เช่น เงินบริจาค เงินสนับสนุน เงินทุนการศึกษา หรือการกีฬาต่างๆ
“หาก ครม.มีมติเห็นชอบตามอนุสัญญาดังกล่าว จะส่งผลให้หน่วยงานรัฐใดที่รับการช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมยาสูบ จะมีความผิดถือเป็นโทษทางวินัย ขณะเดียวกัน ส่งผลให้เครือข่ายฯ สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึงด้วย ซึ่งทางเครือข่ายจะติดตามเรื่องมติ ครม.นี้อย่างใกล้ชิด” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
นายฉัตรชัย ชาญวิบูลย์ศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแสดงจุดยืนในครั้งนี้อยากให้บริษัทบุหรี่ต่างๆได้รับทราบว่าเยาวชนไทยไม่เห็นด้วยกับการจัดงานดังกล่าว และอยากให้รัฐบาลเอาใจใส่ในเรื่องดังกล่าวไม่อยากให้มีการจัดงานในลักษณะนี้ขึ้นอีก และเน้นในเรื่องของสุขภาพคนไทยให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทบุหรี่มีความพยายามเจาะกลุ่มเยาวชน โดยเคยพบการเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในเชิงของการให้ทุนเพื่อให้เกิดการยอมรับต่อสินค้า และอาจมีเยาวชนบางส่วนที่ไม่เท่าทันต่อกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ทำให้ตกเป็นเหยื่อในที่สุด
“กลยุทธ์ต่างๆ ที่บริษัทบุหรี่คิดขึ้นมีความหลากหลายมากและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเยาวชนเพราะถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมาย และทำให้กลายเป็นเหยื่อ ความหวังในการรวมพลังครั้งนี้อยากให้บริษัทบุหรี่ต่างๆรับทราบและยกขบวนกลับไป” นายฉัตรชัยกล่าว