ไทยสำรวจการบริโภคยาสูบครั้งใหญ่สำเร็จครั้งแรก เผยล่าสุดไทยมีขี้ยารวม 14.3 ล้านคน ตื่นคุมบุหรี่มวนเองหลังพบสูบ 7.4 ล้านคน 2 ล้านคนเคี้ยวยาเส้น ยาฉุน ขณะที่เล่ห์ บ.บุหรี่ ชูยาจุกทางปากสีสันดึงดูดใจวัยรุ่นห่วงไม่มีกฎหมายควบคุม ขณะที่ สธ.เตรียมขนข้อมูลหารือคลังขึ้นภาษียาเส้น ด้านเครือข่ายต้านภัยเอ็กซ์โปบุหรี่ตั้งขบวนรวมพลังต้าน TABINFO ASIA 2009 ที่อิมแพ็ค 11 พ.ย.นี้
วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ประธานคณะทำงานวิชาการโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก (GATS) ว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกใน 14 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย จีน บราซิล เม็กซิโก อินเดียฯลฯ ที่ทำการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบในแง่มุมต่างๆ ที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยทำโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักสถิติแห่งชาติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีการสุ่มตัวอย่างโดยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์จำนวน 20,566 คน ในปี 2552 พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้บริโภคยาสูบทั้งชนิดมีควัน ได้แก่ บุหรี่ซอง บุหรี่มวนเอง ซิการ์ ไปป์ และชนิดไม่มีควันได้แก่ การเคี้ยวยาเส้น ยานัตถ์ที่มีส่วนผสมของยาเส้น ยาฉุนใช้เคี้ยวและจุกทางปาก หมากพลูที่มีส่วนผสมของยาเส้นจำนวน 14.3 ล้านคน เป็นเพศชายร้อยละ 46.4 และเพศหญิงร้อยละ 9.1
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แยกเป็นผู้บริโภคยาสูบมีควันทั้งสิ้น 12.5 ล้านคน โดย 7.9 ล้านคนสูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงาน และ 7.4 ล้านคนที่สูบบุหรี่มวนเอง โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งสูบบุหรี่ทั้ง 2 ประเภทอัตราการสูบบุหรี่ชนิดมีควันในเพศชายเท่ากับร้อยละ 45.6 และเพศหญิงร้อยละ 3.1 ส่วนบุหรี่ไม่มีควันมีผู้สูบประมาณ 2 ล้านคน สำหรับการเลิกสูบบุหรี่พบ 6 ใน 10 ของคนไทยที่สูบบุหรี่คิดจะเลิกสูบและครึ่งหนึ่งของผู้ที่คิดจะเลิกสูบเคยสูบในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้มีคนไทยที่เลิกสูบแล้ว 4.6 ล้านคน
“ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้บริษัทบุหรี่ได้ผลิตยาสูบรูปแบบใหม่โดยนำยาสูบที่ลดความนิยมไปแล้วอย่างยาจุกทางปาก ซึ่งเป็นยาสูบชนิดไร้ควัน ใช้โดยเหน็บไว้ที่ปากที่มีการทำในรูปแบบสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดใจวัยรุ่น ทำให้รู้สึกเท่ มีแนวโน้มสูงที่วัยรุ่นจะหันมาให้ความสนใจ ขณะที่ไทยยังไม่มีกฎหมายในการใช้ควบคุม” ผศ.ดร.ลักขณากล่าว
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พบว่า ผู้สูบบุหรี่ซองเสียเงินซื้อบุหรี่เฉลี่ยเดือนละ 576 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ขณะที่ประชากรร้อยละ 39.7 เชื่อว่าการสูบบุหรี่มวนเองมีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ซอง ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 6 ใน 10 คน คิดจะเลิกสูบบุหรี่ และผู้สูบบุหรี่ 5 ใน 10 คน เคยเลิกสูบบุหรี่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเห็นผลสำคัญที่ทำให้อยากเลิกสูบบุหรี่ เพราะภาพคำเตือน 3 อันดับแรกคือ ภาพมะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งปอด
ผศ.ลักขณา กล่าวอีกว่า สำหรับสถานที่อันตรายที่ทำให้ได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด คือ ตลาดนัด หรือตลาดสด มีผู้ได้รับควันบุหรี่มากถึงร้อยละ 53.5 รองลงมาคือ ในบ้านร้อยละ 39.1 สถานที่ทำงานร้อยละ 27.2 ขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะร้อยละ 3.6 และในร้านอาหาร ภัตตาคาร 9% ขณะที่ มีผู้สังเกตเห็นข้อมูลรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ร้อยละ 74.4 และประชากร 1 ใน 10 คน ยังเห็นมีการตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานคณะกรรมการโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเก็บภาษียาเส้นเพียงร้อยละ 1 ของราคาขายปลีก ขณะที่บุหรี่เก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 85 ของราคาขายปลีก โดยพิษภัยของบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดไม่แตกต่างกัน และพิจารณาข้อมูลพบว่ามีสัดส่วนการสูบบุหรี่ทั้ง 2 ชนิด ใกล้เคียงกัน ดังนั้น หากจะขึ้นภาษียาเส้นต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-80 หรือเพิ่มขึ้นจากที่ขายห่อละ 5 บาทเป็น ไม่ต่ำกว่า 10 บาท ซึ่งอยู่ในระดับที่จะช่วยให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญอยู่ที่การแก้ไขกฎหมาย พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ที่กำหนดให้บุหรี่พันธุ์พื้นเมืองได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งพ่อค้ามักจะอ้างว่ายาเส้นที่ผลิตเป็นยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ส่วนพิษภัยของบุหรี่ไร้ควันและบุหรี่มีควัน มีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งเหมือนกัน โดยบุหรี่ที่มีควันจะเป็นอันตรายต่อปอดมากกว่าบุหรี่ไร้ควันที่ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากแต่ส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในประเทศอินเดียที่นิยมบุหรี่ไร้ควัน เช่น การเคี้ยวยาเส้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่องปากปีละประมาณ 1 แสนราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากรณีดังกล่าว อีกทั้งมีแนวโน้มลดลงทั้งๆ ที่ไม่มีการรณรงค์
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการขึ้นภาษียาเส้นจะหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง โดยนำข้อมูลสถิติรายละเอียดที่มีการนำเสนอในครั้งนี้ รวมถึงข้อข้อมูลที่คณะทำงานคำนวณอัตราภาษียาเส้นให้กับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ บุหรี่มวนเองเป็นบุหรี่พื้นเมืองที่มีการเก็บภาษีต่ำมาก ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยว่าการขึ้นภาษีบุหรี่มวนเองจะช่วยให้การบริโภคยาสูบลดลงหรือไม่ นอกจากนี้ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายในสถานที่ปลอดบุหรี่ เช่น สถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยการลดการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ส่วนการเพิ่มช่องทางในการเลิกบุหรี่ ได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการรวบรวมสมุนไพรไทยที่สามารถนำมาสกัดทำผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เครือข่ายต้านภัยเอ็กซ์โปบุหรี่ ประกอบด้วย สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ 17 องค์กร, มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, คณาจารย์ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย, กลุ่มเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และนักเรียนเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่, นักศึกษาปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิจัยเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งอาเซียน (SEATCA) เครือข่ายแพทย์ชนบท, โรงพยาบาลขอนแก่น, สมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย และภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จำนวนประมาณ 500 คน
จะรวมตัวกันเพื่อเดินรณรงค์จากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไปยังศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี Hall 1 เพื่อตั้งขบวน จากนั้นจะเคลื่อนตัว ไปยัง Hall 5 ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน TABINFO ASIA 2009 พร้อมรณรงค์ต่อต้านการจัดงานดังกล่าว โดยการรณรงค์ต่อต้านครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดงานดังกล่าวในประเทศไทย