อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจว่ามีผลในการลดน้ำหนัก หรือทำให้หุ่นดี เพราะกาแฟเป็นอาหาร ไม่ใช่ยาลดความอ้วน มิหนำซ้ำหากดื่มมากแทนที่จะผอม กลับยิ่งอ้วนจากการเติมน้ำตาล ครีม หรือ นมในกาแฟ
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจำนวนมากอวดอ้างสรรพคุณ ว่า มีผลในการลดน้ำหนัก เช่น โฆษณาแสดงตัวอย่างบุคคลก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ว่า ทำให้น้ำหนักลดลงภายในระยะเวลาหนึ่ง หรืออ้างว่า เป็นโปรแกรมเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น เดิมน้ำหนัก 80 กิโลกรัม เมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปนี้แล้ว น้ำหนักลดลง 15 กิโลกรัม ภายใน 2 สัปดาห์ หรือการโฆษณาโดยใช้ผู้แสดงแบบเป็นผู้หญิงอ้วน หรือผู้หญิงรูปร่างดี แล้วทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีผลในการลดน้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างและโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟ ขอให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ถี่ถ้วน โดยต้องมีฉลากภาษาไทยแจ้งส่วนผสม ระบุชื่อผู้ผลิตอย่างชัดเจน และมีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย.ซึ่งแม้ว่าที่ฉลากจะมีการระบุส่วนประกอบว่า มีไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นีทีน หรือ โครเมียม
แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ยืนยันว่า สารดังกล่าวมีผลในการลดน้ำหนัก หรือทำให้ผิวสวย หรือเพิ่มความงาม ส่วนเลขสารบบอาหารที่แสดงบนฉลากอาหารเป็นเพียงการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต และส่วนประกอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองการโฆษณา แต่อย่างใด และ อย.ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วน ในขณะที่หากดื่มมาก อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จากการเติมน้ำตาล ครีม หรือนมในกาแฟ อีกทั้งทำให้หัวใจทำงานหนัก เนื่องจากได้รับกาเฟอีนมากเกินไป โดยเฉพาะในรายที่มีความไวต่อกาเฟอีน และที่ร้ายไปกว่านั้นผู้บริโภคบางรายอาจได้รับอันตรายจากการเจือปนของยาบางชนิดที่ลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์ เช่น ยาไซบูทรามีน จะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ปวดศีรษะ ปากแห้ง นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วขึ้น เป็นต้น
หาก อย.ตรวจพบการกระทำผิดของอาหารประเภทกาแฟ เช่น ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันจะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือโฆษณาสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหารได้ในเว็บไซต์ http://www.fda.moph.go.th โดยเข้าไปที่หัวข้อ ข่าวผลการดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม อย.มีมาตรการในการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายของผลิตภัณฑ์อาหาร พร้อมทั้งมีมาตรการในการแจ้งเตือนผู้ประกอบการและอบรมให้ความรู้ เพื่อให้รับทราบและระมัดระวังเรื่องการโฆษณาให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง หรือหากพบปัญหา อย.จะเชิญผู้ประกอบการมาพบรวมถึงการประชุมชี้แจง และขอความร่วมมือจากเอเจนซี่ สมาคมโฆษณาฯ และสื่อที่ลงโฆษณาด้วย
รองเลขาธิการ (อย.) กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์กาแฟที่อ้างผลในการลดน้ำหนักมักจะมีราคาที่สูงมากซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อสิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ การลดน้ำหนักสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที รับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ยั่งยืนด้วย หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟที่หลอกลวงและโอ้อวดเกินจริง หรือฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ชัดเจน ไม่มีภาษาไทย หรือได้รับผลข้างเคียงจากบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย.โทร.1556 หรือเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป