xs
xsm
sm
md
lg

อย.เตือน“ยาชุดลดอ้วน” สุดสยอง ชี้ซื้อกินเอง เสี่ยง “ตาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย. ชี้ยาชุดลดน้ำหนักสุดสยอง มีทั้งยารักษาไทรอยด์ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยานอนหลับ เตือนเสี่ยงอันตรายถึงตาย ย้ำสาวอยากผอม ห้าม! ซื้อยาลดความอ้วนมากินเองเด็ดขาด กรณีสาวโรงงานเสียชีวิต ต้องรอผลตรวจพิสูจน์เหตุมาจากการใช้ยาลดความอ้วนจริงหรือไม่

นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีมีสาวโรงงานเสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานยาลดความอ้วนว่า ขณะนี้ยังคงต้องรอผลพิสูจน์สาเหตุของการเสียชีวิตก่อน ซึ่ง สสจ. พระนครศรีอยุธยากำลังเร่งตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตได้รับยาดังกล่าวจากร้านขายยาหรือคลินิก เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาทาง สสจ. ได้ตรวจสอบร้านขายยาแต่ไม่เคยพบร้านขายยากระทำผิดกรณีดังกล่าว

สำหรับยาลดความอ้วนในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง ซึ่งยาที่นิยมใช้กันคือ ยาเฟนเตอมีน ถือเป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง มีข้อบ่งชี้ในการใช้เพื่อลดการอยากอาหาร แต่มีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว ใช้ไปนาน ๆ อาจถึงขั้นติดยาได้ หรือทำให้น้ำหนักที่ลดลงคืนกลับมาอีก รวมทั้งอาจพบอาการอื่นๆ อีก คือ ปากแห้ง อาเจียน ท้องผูก เหงื่อออก ตื่นเต้น ม่านตาขยายประสาทหลอน อาจทำให้เกิดโรคจิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะ พบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก โคม่า และทำให้เสียชีวิตได้

“ที่สำคัญพบว่า มีการจำหน่ายยาชุด ที่มีการนำไปใช้ลดน้ำหนัก โดยจัดไว้เป็นชุดให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน ประกอบด้วยยาประมาณ 1-5 รายการ เช่น ยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนเตอมีนและแอมฟีพราโมน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท,ยาระบาย ,ยาขับปัสสาวะ,ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งยานี้ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาลดความอยากอาหาร ทำให้ไม่หิว ซึ่งการที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารแต่ยังมีกรดหลั่งเพื่อย่อยอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะ จึงต้องให้ยาเป็นชุดเพื่อรักษาผลข้างเคียง คือ ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารด้วย” นพ.พงศ์พันธ์ กล่าว

นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มียาไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ เป็นยาที่เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แต่น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจากมวลรวมของร่างกาย แทนที่จะเป็นไขมัน ดังนั้น ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูงมาก และยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย, ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น โพรพราโนลอล ยากลุ่มนี้ปกติใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง และการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ การให้ร่วมกับยาชุดเนื่องจากยาจะลดอาการใจสั่นที่เกิดจากยาลดความอยากอาหาร, ยานอนหลับ หรือยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงให้ง่วงนอน เนื่องจากยาลดความอยากอาหารอาจทำให้นอนไม่หลับจึงทำให้มีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย ยานอนหลับที่จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ไดอาซีแพม มีผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม กดอาการหายใจ ความดันต่ำ

“จะเห็นได้ว่ายาชุดดังกล่าว ประกอบด้วยยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาลดน้ำหนักโดยตรง แต่เป็นยารักษาโรคอื่นที่นำมาใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา สุดท้ายกลับทำให้ได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงมากมาย ที่จริงการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย พักผ่อนในสัดส่วนที่เหมาะสม และต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยา น้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect) ควรพิจารณาว่า ยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาวของโรคอ้วน ควรชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาและผลเสียจากโรคอ้วน ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาเพื่อลดความอ้วน รวมทั้งต้องคำนึงถึงการรักษาและปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมไปด้วย”นพ. พงศ์พันธ์ กล่าว

นพ. พงศ์พันธ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม อย. ขอเตือนร้านขายยามิให้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ยาเฟนเตอมีน เพราะอาจเกิดผลร้ายต่อผู้บริโภค หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท และขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาเพื่อลดความอ้วนมากินเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยาชุดลดน้ำหนัก ห้ามซื้อใช้เด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น