xs
xsm
sm
md
lg

“เมื่อแรกคลอดน้ำหนักน้อย” เจ้าตัวจ้อยอาจเสี่ยงเบาหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เบาหวาน” ถือเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก และด้วยเพราะปัจจัยหลักคือรูปแบบของการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป ยิ่งทำให้แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ยิ่งทวีมากขึ้นเรื่อยๆ โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ต้องพึ่งอินซูลิน และประเภทไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ประเภทที่ 2 ที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลินนี้ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุด้านพันธุกรรม หรือจากพฤติกรรมการกิน ความอ้วน และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ชอบออกกำลังกาย

แต่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงและอาจยังไม่ทราบ ก็คือ หนึ่งในความเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ก็คือ เมื่อแรกคลอดออกจากครรภ์มารดา ทารกมีน้ำหนักน้อยผิดปกติและมากผิดปกติ !?

...ฟังดูชวนให้ฉงนฉงายอย่างไรพิกล น้ำหนักมากผิดปกติแต่แรกเกิดนั้นพอจะเข้าใจได้ว่าอาจมีความเสี่ยง แต่กรณีน้ำหนักน้อยตอนแรกเกิดกับเบาหวานคิดอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน

“คุณหมอยุ” - พญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลพญาไท2 อธิบายว่ามีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ทารกที่แรกเกิดน้ำหนักมากว่า 4.5 กิโลกรัมนั้น มักจะเกิดจากมารดาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นเมื่อเบาหวานเป็นโรคที่มีปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทารกที่มีน้ำหนักมากผิดปกติตอนแรกเกิดเช่นนี้ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น

ส่วนในประเด็นของน้ำหนักน้อยผิดปกตินั้น พญ.อยุทธินี ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นชวนสงสัยนี้ว่า ทารกที่มีผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 2.5 กก.ก็พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่ออายุมากขึ้นเช่นเดียวกัน และโอกาสจะยิ่งสูงหากน้ำหนักตัวเมื่อโตขึ้นอยู่ในเกณฑ์อ้วน
พญ.อยุทธินี  สิงหโกวินท์
“ขณะนี้ยังไม่สามารถอธิบายถึงกลไกการเกิดเบาหวานได้ง่ายขึ้นในเด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยเหล่านี้ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากภาวะโภชนาการขณะตั้งครรภ์ของมารดา ตรงนี้น่าจะมีบทบาท นั่นคือ การขาดสารอาหารในมารดา หรือมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่รก จากโรคประจำตัวของมารดา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้การส่งผ่านสารอาหารจากแม่ไปสู่ลูกไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ผิดปกติในเซลล์ของตับอ่อน ทำให้เกิดปัญหาเบาหวานเมื่อตอนโต”

แต่ถึงแม้การศึกษาในกรณีดังกล่าวจะบอกถึงแนวโน้มความเสี่ยงของเด็กที่น้ำหนักแรกเกิดมากผิดปกติและน้อยผิดปกติ ที่อาจป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานรายนี้ก็ยังอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยที่เข้าข่ายความเสี่ยงนี้สบายใจว่า การที่คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงความเสี่ยงเช่นนี้ถือเป็นเรื่องไม่ควรวิตก แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือเมื่อรู้ว่าลูกมีความเสี่ยงแล้ว ก็ควรหาทางป้องกันและสร้างไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้องให้ลูกไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกิน รวมไปถึงการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้ลูกเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย

“อย่าเลี้ยงลูกให้อ้วน พยายามให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าให้ติดรสหวาน เพียงเท่านี้ก็จะลดความเสี่ยงในการที่จะป่วยเป็นเบาหวานรวมถึงโรคอื่นๆ ในอนาคตได้แล้วล่ะค่ะ” คุณหมอใจดีทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น